หน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างและคืนเงินประกันคืน
ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย |
| ||||||||
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 | ||||||||
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49, 58 | ||||||||
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 05/2545 ของจำเลยที่ 1 ที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างจำนวน 8,000 บาท และคืนเงินประกันการทำงานจำนวน 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 11,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 และบังคับให้จำเลยที่ 2 คืนเงินที่ยักยอกไปจำนวน 91,481.77 บาท แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 77,281.25 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์ยื่นคำร้องว่าก่อนฟ้องโจทก์วางเงินจำนวน 11,000 บาท ต่อศาลตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แต่เนื่องจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 77,281.25 บาท จึงขอให้ศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งงดการจ่ายเงินในส่วนที่โจทก์วางไว้ต่อศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 58 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างและเงินประกันคืนแก่จำเลยที่ 2 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปดำเนินการบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2 ต่างหาก จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งงดการจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคำร้องของโจทก์ ให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "คดีนี้จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งที่ 05/2545 สั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างจำนวน 8,000 บาท และคืนเงินประกันการทำงานจำนวน 3,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 11,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ยักยอกเงินโจทก์และขอให้บังคับจำเลยที่ 2 คืนเงินที่ยักยอก ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอของโจทก์ที่ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างและคืนเงินประกันการทำงานให้แก่จำเลยที่ 2 และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินที่ยักยอกไปจำนวน 77,281.25 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เงินจำนวน 11,000 บาท ตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์นำมาวางศาลก่อนฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม โจทก์จะขอให้งดการจ่ายไว้เนื่องจากศาลแรงงานกลางได้พิพากษาในคดีนี้ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์เป็นจำนวนถึง 77,281.25 บาท ซึ่งมากกว่าจำนวนเงินที่วางไว้ได้หรือไม่ เห็นว่าวัตถุประสงค์ของการวางเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงิน ลูกจ้างหรือทายาทโดยชอบธรรมของลูกจ้างที่ถึงแก่ความตายจะได้รับเงินตามจำนวนที่มีสิทธินั้น เงินที่นายจ้างนำไปวางจึงยังไม่ตกเป็นของลูกจ้าง สำหรับกรณีนี้แม้จะยุติว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเนื่องจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 แต่ศาลแรงงานกลางก็พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินที่จำเลยที่ 2 ยักยอกไป จำเลยที่ 2 จึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ในหนี้เงินที่จำเลยที่ 2 ยักยอกไป โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ตามกฎหมาย การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางงดการจ่ายเงินที่โจทก์ได้วางศาลไว้ก่อนฟ้องคดีนั้น เป็นกรณีที่โจทก์ร้องขอก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งให้จ่ายเงินที่โจทก์วางไว้ต่อศาลดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสี่ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์และเพื่อบังคับตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ดังกล่าว เป็นการร้องขอตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 58 ซึ่งโจทก์สามารถกระทำได้และกรณีสมควรมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์เพื่อบังคับตามคำพิพากษาต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย" พิพากษากลับ ให้งดการจ่ายเงินส่วนที่โจทก์วางต่อศาลแรงงานกลางก่อนฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ไว้ก่อน. | ||||||||
(วิชัย วิวิตเสวี - วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - รัตน กองแก้ว) | ||||||||
แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา |