ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ที่ไม่มีลักษณะที่เป็นเงื่อนไขในการทำงาน


825 ผู้ชม


ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ที่ไม่มีลักษณะที่เป็นเงื่อนไขในการทำงาน




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2534    

ข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 23 ว่าด้วยการจัดระเบียบการบริหารงาน ข้อ 33 กำหนดว่า "การกำหนดอัตราตำแหน่งของพนักงานและลูกจ้างของ อ.ม.ท. ให้เป็นไปตามบัญชีท้ายข้อบังคับนี้" และบัญชีอัตราตำแหน่งของพนักงานและลูกจ้างของ อ.ม.ท. มีรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดหน่วยงานและจำนวนพนักงานในแต่ละหน่วยงานว่ามีจำนวนเท่าใดอยู่ในระดับใดบ้างเท่าใด เช่นนี้ข้อบังคับของจำเลยข้อนี้มีลักษณะเป็นการแบ่งหน่วยงานโดยกำหนดอัตรากำลัง และระดับในแต่ละหน่วยงานอันมีลักษณะเป็นวิธีการบริหารงานบุคคลในหน่วยงานเท่านั้นไม่มีลักษณะที่เป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และมิได้มีลักษณะที่เป็นเงื่อนไขในการทำงาน กำหนดวันเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการการเลิกจ้าง การยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ของลูกจ้าง การแก้ไขเพิ่มเติมหรือการต่ออายุข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 วรรคสามและมาตรา 11 จึงไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขได้เพื่อให้เหมาะสมกับการบริหารงานบุคคลตามฐานะแห่งกิจการของจำเลยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องแจ้งข้อเรียกร้องหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ เมื่อโจทก์จำเลยไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ห้ามจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งของโจทก์ การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์จากตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการบริหารระดับ 9 ไปรักษาการตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจสอบภายใน ระดับ 9 เช่นเดิมมิใช่เป็นการลดระดับโจทก์และโจทก์ได้รับเงินเดือน ผลประโยชน์และสวัสดิการเท่าเดิม เช่นนี้เป็นการใช้ดุลพินิจ กำหนดบุคคลในตำแหน่งงานที่เหมาะสม มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างส่วนที่อ้างว่าการโยกย้ายโจทก์ไปทำให้โจทก์ต้องสูญเสียสิทธิในการใช้รถยนต์อันเป็นสวัสดิการเป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น ข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ได้ตามความเหมาะสม แม้ตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์จะไม่มีรถยนต์ประจำตำแหน่งก็ตามไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เท่ากับศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า รถยนต์ที่โจทก์มีสิทธิได้รับอยู่ก่อนนั้นมิใช่เป็นสวัสดิการ ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่ารถยนต์ที่โจทก์ได้รับอยู่เป็นสวัสดิการ จึงเป็นการโต้เถียง ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา.


โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายก่อนถูกโยกย้าย เป็นรองผู้อำนวยการองค์การเหมืองแร่ในทะเล ฝ่ายกิจการบริหารระดับ 9 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2533 จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจสอบภายใน ระดับ 9โดยอาศัยข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 23 ว่าด้วยการจัดระเบียบการบริหารงาน พ.ศ. 2532 แต่ข้อบังคับดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 23 ว่าด้วยการจัดระเบียบการบริหารงาน พ.ศ. 2527 โดยจำเลยไม่ได้เรียกร้อยและโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วย การโยกย้ายโจทก์ดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและไม่เป็นคุณแก่โจทก์ ขอให้เพิกถอนข้อบังคับขององค์การเหมืองแร่ในทะเล ฉบับที่ 23 ว่าด้วยการจัดระเบียบการบริหารงาน พ.ศ. 2532 และคำสั่งองค์การเหมืองแร่ในทะเล ที่042/2533 เรื่อง โยกย้ายและแต่งตั้งพนักงานให้รักษาการในตำแหน่งลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2533 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ และให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่มีอยู่เดิม

จำเลยให้การต่อสู้คดี

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กิจการแร่ดีบุกประสบภาวะขาดทุนคณะกรรมการของจำเลยมีมติให้ลดค่าใช้จ่ายโดยลดอัตรากำลังของพนักงานและมีมติให้สำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณา ทางสำนักงบประมาณได้สรุปเรื่องอัตรากำลังให้จำเลยทราบเมื่อเดิมสิงหาคม 2531คณะกรรมการของจำเลยจึงได้ออกข้อบังคับองค์การเหมืองแร่ในทะเลฉบับที่ 23 ว่าด้วยการจัดระเบียบการบริหารงาน พ.ศ. 2532 จำเลยได้ออกคำสั่งย้ายโจทก์ให้ไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจสอบภายในระดับ 9 ตามที่ข้อบังคับใหม่กำหนดไว้ กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ตำแหน่งใหม่ของโจทก์เป็นระดับ 9 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2532 เป็นต้นไป ถือว่าตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในเป็นระดับ 9 มาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยย้ายโจทก์มาดำรงตำแหน่งนี้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2533 ก็เป็นการให้มาดำรงตำแหน่งระดับ 9 โดยไม่ได้ลดอัตราเงินเดือน สิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่าง ๆยังเหมือนเดิม แต่ไม่มีรถยนต์ประจำตำแหน่ง แม้จำเลยจะได้รับอนุมัติตำแหน่งระดับ 9 เป็นการย้อนหลังจากกระทรวงการคลังก็ไม่ทำให้คำสั่งที่จำเลยออกมาก่อนนั้นเสียไป เมื่อไม่มีสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ห้ามจำเลยโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ได้ตามความเหมาะสม และตำแหน่งใหม่ของโจทก์ไม่มีรถยนต์ประจำตำแหน่งและผู้ใต้บังคับบัญชาน้อยลงนั้น ไม่ใช่เป็นการลดตำแหน่งโจทก์ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างแต่อย่างใด ข้อบังคับจำเลยฉบับที่ 23 ว่าด้วยการจัดระเบียบการบริหารงาน พ.ศ. 2532 และคำสั่งจำเลยที่ 042/2532 (ที่ถูกเป็น 042/2533) ที่ให้โยกย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจสอบภายในนั้นเป็นการชอบแล้ว ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 และมาตรา 20จึงไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งจำเลยที่ 042/2533 พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "โจทก์จำเลยมิได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันไว้ต่างหาก ดังนั้นเรื่องใดจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่ จึงต้องดูว่าเรื่องนั้นเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามมาตรา 10 วรรคสาม หรือเป็นการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 หรือไม่ ได้พิจารณาข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 23 ว่าด้วยการจัดระเบียบการบริหารงาน พ.ศ. 2532 ในข้อ 33 ที่กำหนดว่า "การกำหนดอัตราตำแหน่งของพนักงานและลูกจ้างของ อ.ม.ท. ให้เป็นไปตามบัญชีท้ายข้อบังคับนี้" และบัญชีอัตราตำแหน่งของพนักงานและลูกจ้างของ อ.ม.ท. มีรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดหน่วยงานและจำนวนพนักงานในแต่ละหน่วยงานว่ามีจำนวนเท่าใด อยู่ในระดับใดบ้างเท่าใด เห็นได้ว่า ข้อบังคับของจำเลยเฉพาะข้อนี้มีลักษณะเป็นการแบ่งหน่วยงานโดยกำหนดอัตรากำลังและระดับในแต่ละหน่วยงานอันมีลักษณะเป็นวิธีการบริหารงานบุคคลในหน่วยงาน เท่านั้น ไม่มีลักษณะที่เป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและมิได้มีลักษณะเป็นเงื่อนไขในการทำงาน กำหนดวันเวลาทำงาน ค่าจ้างสวัสดิการ การเลิกจ้าง การยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ของลูกจ้าง การแก้ไขเพิ่มเติมหรือการต่ออายุข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 10 วรรคสาม และมาตรา 11 แต่อย่างใด ดังนั้นข้อบังคับของจำเลยที่แก้ไขใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อที่โจทก์กล่าวอ้างขึ้นมานี้ จึงไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยจึงมีอำนาจที่แก้ไขได้เพื่อให้เหมาะสมกับการบริหารงานบุคคลตามฐานะแห่งกิจการของจำเลยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องแจ้งข้อเรียกร้องหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ตามที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 บัญญัติไว้แต่ประการใด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

โจทก์อุทธรณ์ในประการต่อมาว่า คำสั่งของจำเลยที่ 042/2533นั้นเป็นการไม่ชอบและเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ข้อที่โจทก์อ้างว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้นก็โดยที่วันที่ออกคำสั่งนั้นตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจสอบภายในยังไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้มีระดับ 9 ในข้อนี้ ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจสอบภายในของจำเลยเฉพาะตัวโจทก์นั้นเป็นระดับ 9 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2532 ดังนั้นตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจสอบภายในเป็น ระดับ 9 ตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ตามคำสั่งที่042/2533 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2533 และในคำสั่งดังกล่าวก็ได้ระบุว่าให้ไปรักษาการตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจสอบภายในระดับ 9 ในเมื่อเดิมโจทก์ก็เป็นพนักงานในระดับ 9 การที่จำเลยย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งระดับ 9 เช่นเดิมจึงมิใช่เป็นการลดระดับโจทก์จากเดิมแต่ประการใดการไปดำรงตำแหน่งของโจทก์ตามคำสั่งดังกล่าวก็ได้ความตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนผลประโยชน์และสวัสดิการเท่าเดิม และโจทก์จำเลยไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ห้างจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ ดังนั้นการที่จำเลยออกคำสั่งดังกล่าวให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งใหม่ในระดับเดิมอันเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดบุคคลในตำแหน่งงานที่เหมาะสมโดยมิได้ทำให้สิทธิต่าง ๆ ในฐานะที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยลดลงไปจากเดิม หรือมีงานมากกว่าเดิมเช่นนี้จึงมิใช่กรณีที่จำเลยเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยแต่ประการใด อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

โจทก์อุทธรณ์ในประการสุดท้ายว่า รถยนต์ประจำตำแหน่งที่โจทก์มีสิทธิได้รับก่อนถูกคำสั่งย้ายนั้น ถือว่าเป็นสวัสดิการ การโยกย้ายโจทก์ไปโดยโจทก์ต้องสูญเสียสิทธิในการใช้รถยนต์ดังกล่าวจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เห็นว่า ข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิที่จะโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ได้ตามความเหมาะสม แม้ตำแหน่งใหม่ของโจทก์จะไม่มีรถยนต์ประจำตำแหน่งก็ตามไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังนี้จึงเท่ากับว่าศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า รถยนต์ที่โจทก์มีสิทธิได้รับก่อนถูกย้ายนั้นมิใช่เป็นสวัสดิการ ดังนั้นการที่โจทก์อุทธรณ์ว่า รถยนต์ที่โจทก์ได้รับอยู่เป็นสวัสดิการ จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย..."

พิพากษายืน.

ที่มา : ศาลฎีกา


อัพเดทล่าสุด