สภาพการจ้าง ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งไม่ได้บังคับให้ ต้องทำข้อตกลงเป็นหนังสือ


636 ผู้ชม


สภาพการจ้าง ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งไม่ได้บังคับให้ ต้องทำข้อตกลงเป็นหนังสือ




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6515/2543    

การที่จำเลยจัดให้มีพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน เป็นสภาพการจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งไม่ได้บังคับให้ต้องทำข้อตกลงเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยได้จัดให้มีพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณ อันเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการทำงานแม้จำเลยกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียวและไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม ย่อมถือได้ว่าเป็นสภาพการจ้างโดยปริยายแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสภาพการจ้างนี้การที่จำเลยจัดสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณอันเป็นสภาพการจ้างเดิมที่มีพยาบาลประจำเรือจำนวน 2 คน ไว้ตลอด 24ชั่วโมง ต่อมาจำเลยได้ย้ายพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณไปประจำที่แท่นผลิตเอราวัณ แล้วฝึกเจ้าหน้าที่ประจำเรือซึ่งสามารถปฐมพยาบาลขั้นต้นจำนวน 11 คน สับเปลี่ยนกันทำหน้าที่แทน พร้อมทั้งมีแพทย์และพยาบาลซึ่งประจำอยู่ที่แท่นผลิตเอราวัณไปรักษาพยาบาลเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ถึง 2 ครั้งนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างแล้ว แต่จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ในการบริหารกิจการของจำเลยและเกี่ยวกับสวัสดิการและผลประโยชน์อื่น ซึ่งการจัดพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเป็นสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่พนักงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยจึงอาศัยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงสวัสดิการที่ได้ให้แก่พนักงานนั้นได้โดยต้องไม่ให้น้อยไปกว่าเดิม เมื่อปรากฏว่า แท่นผลิตเอราวัณเป็นแท่นขุดเจาะก๊าซเหลวในบริเวณอ่าวไทย เป็นหนึ่งในจำนวน 5 แท่นของจำเลย เมื่อผลิตได้แล้วก๊าซส่วนหนึ่งจะส่งไปเก็บที่เรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณอยู่ห่างออกไปประมาณ 3 ไมล์ทะเล (5 กิโลเมตร) แท่นผลิตเอราวัณมีห้องพยาบาลกว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร จำเลยจัดให้มีแพทย์และพยาบาลประจำตลอด 24 ชั่วโมง อย่างละ 1 นาย แต่บางครั้งแพทย์จะต้องไปตรวจเยี่ยมที่แท่นผลิตอื่น ๆ แต่ไปไม่เกิน 1 วันก็กลับมาประจำภายในห้องพยาบาลมีเครื่องมือสื่อสารติดต่อสื่อสารด้านการรักษาพยาบาลกับเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณทางโทรศัพท์วิทยุ และคอมพิวเตอร์สามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลา การติดต่อสื่อสารด้านการรักษาพยาบาล แพทย์และพยาบาลจะใช้วิธีฟังอาการของผู้ป่วยจากผู้บังคับบัญชาในเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณซึ่งได้รับการฝึกอบรมพยาบาลมาแล้ว และฟังอาการจากผู้ป่วยเองด้วยแล้วจึงวินิจฉัยโรคโดยสั่งให้ทางเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณจ่ายยาตามอาการของโรค หากมีความจำเป็นแพทย์หรือพยาบาลจะเดินทางไปรักษาด้วยตนเอง การเดินทางติดต่อระหว่างแท่นผลิตเอราวัณกับเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณ หากเดินทางด้วยเรือจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที ถ้าใช้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ซึ่งมีไว้ประจำที่แท่นผลิตเอราวัณใช้เวลาประมาณ 15 นาที โดยเตรียมความพร้อม 12 นาที ใช้เวลาบิน 3 นาที ถ้าเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ไปปฏิบัติภาระกิจในแท่นขุดเจาะอื่นซึ่งไกลที่สุดจะใช้เวลา 40 ถึง 45 นาที ในเวลากลางคืนต้องใช้เวลาเตรียมตัวและในการบินไปถึงเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณรวมประมาณ40 นาที เรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเป็นเรือไม่มีเครื่องยนต์ ถูกยึดติดอยู่กับทุ่น มีที่พักพนักงานบนเรือประมาณ 32 คน ภายในเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณมีห้องพยาบาลกว้าง 2.5 เมตร ยาว 3 เมตร มีเครื่องมือสื่อสารดังกล่าวประจำห้องพยาบาล พนักงานประจำเรือระดับผู้บังคับบัญชา 7 คน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมด้านพยาบาลเบื้องต้นพอมีความรู้พื้นฐานและด้านพยาบาล ภายหลังจากเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณได้รับการซ่อมแซมแล้วทำให้พนักงานบนเรือทำงานปลอดภัยขึ้นกว่าเดิม การที่จำเลยย้ายพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณไปประจำที่แท่นผลิตเอราวัณโดยให้เจ้าหน้าที่ประจำระดับผู้บังคับบัญชา 7 คน ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านพยาบาลเบื้องต้นมาทำหน้าที่แทนนั้น โดยสภาพแล้วเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวย่อมมีความรู้ความชำนาญในการพยาบาลคนไข้สู้พยาบาลมืออาชีพไม่ได้แต่การที่จำเลยจัดให้มีพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณก็ด้วยความประสงค์ให้เป็นสวัสดิการแก่พนักงานของจำเลยที่เกิดเจ็บป่วยในระหว่างที่อยู่บนเรือดังกล่าว ประกอบกับเดิมจำเลยเพียงแต่จัดพยาบาลมาอยู่ประจำบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเท่านั้น มิได้จัดให้มีแพทย์มาอยู่รักษาคนไข้ด้วย แสดงว่าจำเลยจัดให้มีพยาบาลดังกล่าวก็เพื่อให้รักษาพยาบาลพนักงานที่เจ็บป่วยเล็กน้อยอันเป็นการรักษาเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยจัดเจ้าหน้าที่ประจำระดับผู้บังคับบัญชา 7 คน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมด้านพยาบาลเบื้องต้นและจัดให้มีเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ เพื่อติดต่อสื่อสารด้านการรักษาพยาบาลกับแพทย์และพยาบาลตลอดเวลาแม้จะไม่มีพยาบาลอยู่ประจำบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเช่นเดิมก็ตามแต่วิธีการใหม่นี้ก็มิได้ทำให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นยิ่งหย่อนไปกว่าเดิมเลย หากมีความจำเป็นแพทย์หรือพยาบาลจะเดินทางไปรักษาด้วยตนเองอีกด้วย นอกจากนี้จำเลยได้จัดให้มีเรือและเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์สำหรับใช้เดินทางไปยังเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณ ถ้าเดินทางด้วยเรือใช้เวลาประมาณ 20 นาที ถ้าเดินทางโดยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น ทั้งปรากฏว่าหลังจากเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณได้รับการซ่อมแซมแล้วทำให้พนักงานบนเรือทำงานปลอดภัยขึ้นกว่าเดิมด้วย จึงเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการในการรักษาพยาบาลที่จำเลยจัดให้ใหม่นี้มิได้ทำให้ลูกจ้างจำเลยได้รับสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลน้อยลงกว่าเดิม จำเลยจึงมีอำนาจในการบริหารกิจการและการจัดสวัสดิการของจำเลยตามระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน


โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหภาพแรงงาน โดยสมาชิกของโจทก์ได้รับการจัดสวัสดิการจากจำเลยให้มีพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณ ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของลูกจ้างตลอด ๒๔ ชั่วโมงมาเป็นเวลาประมาณ ๑๑ ปี ต่อมาวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๑ จำเลยได้ย้ายพยาบาลประจำเรือดังกล่าวไปประจำสถานที่อื่น และจัดพยาบาลไปตรวจเยี่ยมตามกำหนดทำให้ลูกจ้างได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลลดลงมาก และสูญเสียความพร้อมในการกู้ชีวิตในภาวะฉุกเฉิน อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไปในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง และไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างมาก่อน ขอให้บังคับจำเลยจัดพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อให้มีสภาพการจ้างด้านสวัสดิการการรักษาพยาบาลดังเดิม

จำเลยให้การว่า ได้จัดสวัสดิการการรักษาพยาบาลให้ลูกจ้างบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณตลอดเวลา ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดตามกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่มีลูกจ้างบนเรือ ๒๕ ถึง ๓๐ คน เท่านั้น ไม่ถึง ๒๐๐ คนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยสำหรับลูกจ้าง ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ แต่จำเลยก็จัดให้มีห้องรักษาพยาบาลเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และยารักษาโรค ทั้งได้ฝึกเจ้าหน้าที่ประจำเรือจนมีคุณสมบัติสามารถปฐมพยาบาลและรักษาพยาบาลชั้นต้น โดยได้รับการรับรองจากสภากาชาดไทย จำนวน ๑๑ คน สับเปลี่ยนกันทำหน้าที่ได้ตลอดเวลา สวัสดิการการรักษาพยาบาลประจำเรือจึงถือว่าสูงกว่ามาตรฐานที่กฎหมายไทยกำหนด และมาตรฐานนานาชาติทั่วโลกก็ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีพยาบาลหรือแพทย์ประจำบนเรือตลอด ๒๔ ชั่วโมง จำเลยเพิ่งจัดพยาบาลประจำเรือเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๓ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๑ และในช่วงปี ๒๕๓๙ ถึง ๒๕๔๐ จำเลยส่งเรือไปซ่อมแซมปรับปรุงสภาพและระบบต่าง ๆ ที่ประเทศสิงคโปร์ให้ทันสมัย เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงมีความมั่นคงปลอดภัย และมีภาวะแวดล้อมในการทำงานดีขึ้น ระหว่างปรับปรุงซ่อมแซมนี้ จำเลยจัดเรือลำอื่นทำการกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวแทนชั่วคราว โดยไม่มีพยาบาลประจำตลอด ๒๔ ชั่วโมง และเมื่อเรือปรับปรุงซ่อมแซมเรียบร้อยแล้วจำเลยได้ปรับปรุงการบริหารพนักงานบนเรือ โดยไม่จำต้องใช้พนักงานมากเหมือนก่อน และได้สับเปลี่ยนบุรุษพยาบาลให้ไปประจำอยู่ที่แท่นขุดเจาะปิโตรเลียมอื่น ๆ แต่การรักษาพยาบาลนั้นจำเลยได้จัดให้มีพยาบาลและแพทย์ประจำแท่นผลิตเอราวัณ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงไปบริการรักษาพยาบาลตามเวลาที่พนักงานต้องการหรือมีความเจ็บป่วย เฉลี่ยสัปดาห์ละ ๑ถึง ๒ ครั้ง ด้านการปรึกษาหรือรับการรักษาพยาบาลก็สามารถติดต่อกับแพทย์และพยาบาลประจำแท่นผลิตเอราวัณ ทางโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือวิทยุ ได้ตลอดเวลานอกจากนี้จำเลยไม่เคยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับโจทก์ที่จะต้องจัดให้มีพยาบาลทำหน้าที่ประจำเรือตลอด ๒๔ ชั่วโมง การเปลี่ยนแปลงโยกย้ายพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเป็นการใช้สิทธิการบริหารงานของจำเลยให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยที่จำเลยปรับปรุงมาโดยตลอด ไม่ได้เป็นการลดประโยชน์ เรื่อง การรักษาพยาบาลและความปลอดภัยขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เดิมไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้ไว้ แต่เมื่อประมาณปี ๒๕๓๑ หลังจากเกิดอุบัติเหตุบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเป็นเหตุให้ลูกจ้างเสียชีวิตและบาดเจ็บ จำเลยจึงจัดให้มีพยาบาลประจำเรือดังกล่าวตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยมีพยาบาล ๒ คน สลับกันปฏิบัติหน้าที่คนละ ๑๔ วัน การจัดพยาบาลประจำเรือดังกล่าวจึงถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย การที่จำเลยยกเลิกพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณโดยฝึกอบรมปฐมพยาบาลให้แก่ลูกจ้างบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณและส่งพยาบาลไปตรวจเยี่ยมสัปดาห์ละ ๒ วัน ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้านสวัสดิการเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและทันท่วงทีจากพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๒๐ พิพากษาให้จำเลยจัดพยาบาลประจำบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณตลอด ๒๔ ชั่วโมง

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าจำเลยจัดให้มีพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานแต่เพียงฝ่ายเดียว จำเลยมิได้ตกลงกับโจทก์ และไม่ได้ทำเป็นหนังสือ การจัดให้มีพยาบาลประจำเรือดังกล่าวจึงมิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๐วรรคสอง นั้น เห็นว่า การที่จำเลยจัดให้มีสวัสดิการดังกล่าวเป็นสภาพการจ้างตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งไม่ได้บังคับให้ต้องทำข้อตกลงเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อจำเลยได้จัดให้มีพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณ อันเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการทำงานแม้จำเลยกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียวและไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม ย่อมถือได้ว่าเป็นสภาพการจ้างโดยปริยายแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสภาพการจ้างนี้

จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า การที่จำเลยปรับเปลี่ยนการรักษาพยาบาลบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเป็นเพียงการปรับปรุงวิธีการรักษาพยาบาลพนักงานบนเรือดังกล่าว โดยพนักงานทุกคนบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณยังคงได้รับการรักษาพยาบาลเท่าเดิม จึงมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จำเลยมีสิทธิกระทำได้ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ ๕.๒ นั้น เห็นว่า การที่จำเลยจัดสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณอันเป็นสภาพการจ้างเดิมที่มีพยาบาลประจำเรือจำนวน ๒ คน ไว้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ต่อมาจำเลยได้ย้ายพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณไปประจำที่แท่นผลิตเอราวัณ แล้วฝึกเจ้าหน้าที่ประจำเรือซึ่งสามารถปฐมพยาบาลขั้นต้นจำนวน ๑๑ คน สับเปลี่ยนกันทำหน้าที่แทน พร้อมทั้งมีแพทย์และพยาบาลซึ่งประจำอยู่ที่แท่นผลิตเอราวัณไปรักษาพยาบาลเฉลี่ยสัปดาห์ละ ๑ ถึง ๒ ครั้งนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างแล้ว แต่จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ ๕.๒ เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ในการบริหารกิจการของจำเลยและข้อ ๒๙ เกี่ยวกับสวัสดิการและผลประโยชน์อื่น ซึ่งการจัดพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเป็นสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่พนักงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยจึงอาศัยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงสวัสดิการที่ได้ให้แก่พนักงานนั้นได้โดยต้องไม่ให้น้อยไปกว่าเดิม ในปัญหาที่ว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงสวัสดิการในการรักษาพยาบาลทำให้พนักงานได้รับสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลน้อยกว่าเดิมหรือไม่นั้น ศาลฎีกาได้สั่งให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม ซึ่งศาลแรงงานกลางสอบคู่ความแล้วแถลงรับข้อเท็จจริงว่า แท่นผลิตเอราวัณเป็นแท่นขุดเจาะก๊าซเหลวในบริเวณอ่าวไทย เป็นหนึ่งในจำนวน ๕ แท่นของจำเลย เมื่อผลิตได้แล้วก๊าซส่วนหนึ่งจะส่งไปเก็บที่เรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณอยู่ห่างออกไปประมาณ ๓ ไมล์ทะเล (๕ กิโลเมตร) แท่นผลิตเอราวัณมีห้องพยาบาลกว้าง ๔ เมตรยาว ๘ เมตร จำเลยจัดให้มีแพทย์และพยาบาลประจำตลอด ๒๔ ชั่วโมง อย่างละ๑ นาย แต่บางครั้งแพทย์จะต้องไปตรวจเยี่ยมที่แท่นผลิตอื่น ๆ แต่ไปไม่เกิน ๑ วันก็กลับมาประจำภายในห้องพยาบาลมีเครื่องมือสื่อสารติดต่อสื่อสารด้านการรักษาพยาบาลกับเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณทางโทรศัพท์ วิทยุ และคอมพิวเตอร์สามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลา การติดต่อสื่อสารด้านการรักษาพยาบาล แพทย์และพยาบาลจะใช้วิธีฟังอาการของผู้ป่วยจากผู้บังคับบัญชาในเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณซึ่งได้รับการฝึกอบรมพยาบาลมาแล้ว และฟังอาการจากผู้ป่วยเองด้วยแล้วจึงวินิจฉัยโรคโดยสั่งให้ทางเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณจ่ายยาตามอาการของโรค หากมีความจำเป็นแพทย์หรือพยาบาลจะเดินทางไปรักษาด้วยตนเอง การเดินทางติดต่อระหว่างแท่นผลิตเอราวัณกับเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณหากเดินทางด้วยเรือจะใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที ถ้าใช้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ซึ่งมีไว้ประจำที่แท่นผลิตเอราวัณใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที โดยเตรียมความพร้อม๑๒ นาที ใช้เวลาบิน ๓ นาที ถ้าเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ไปปฏิบัติภาระกิจในแท่นขุดเจาะอื่นซึ่งไกลที่สุดจะใช้เวลา ๔๐ ถึง ๔๕ นาที ในเวลากลางคืนต้องใช้เวลาเตรียมตัวและในการบินไปถึงเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณรวมประมาณ๔๐ นาที เรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเป็นเรือไม่มีเครื่องยนต์ ถูกยึดติดอยู่กับทุ่น มีที่พักพนักงานบนเรือประมาณ ๓๒ คน ภายในเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณมีห้องพยาบาลกว้าง ๒.๕ เมตร ยาว ๓ เมตร มีเครื่องมือสื่อสารดังกล่าวประจำห้องพยาบาล พนักงานประจำเรือระดับผู้บังคับบัญชา ๗ คน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมด้านพยาบาลเบื้องต้นพอมีความรู้พื้นฐานและด้านพยาบาล ภายหลังจากเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณได้รับการซ่อมแซมแล้วทำให้พนักงานบนเรือทำงานปลอดภัยขึ้นกว่าเดิม เห็นว่า การที่จำเลยย้ายพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณไปประจำที่แท่นผลิตเอราวัณโดยให้เจ้าหน้าที่ประจำระดับผู้บังคับบัญชา ๗ คน ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านพยาบาลเบื้องต้นมาทำหน้าที่แทนนั้น โดยสภาพแล้วเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวย่อมมีความรู้ความชำนาญในการพยาบาลคนไข้สู้พยาบาลมืออาชีพไม่ได้ แต่การที่จำเลยจัดให้มีพยาบาลประจำเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณก็ด้วยความประสงค์ให้เป็นสวัสดิการแก่พนักงานของจำเลยที่เกิดเจ็บป่วยในระหว่างที่อยู่บนเรือดังกล่าว ประกอบกับเดิมจำเลยเพียงแต่จัดพยาบาลมาอยู่ประจำบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเท่านั้น มิได้จัดให้มีแพทย์มาอยู่รักษาคนไข้ด้วย แสดงว่าจำเลยจัดให้มีพยาบาลดังกล่าวก็เพื่อให้รักษาพยาบาลพนักงานที่เจ็บป่วยเล็กน้อย อันเป็นการรักษาเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยจัดเจ้าหน้าที่ประจำระดับผู้บังคับบัญชา ๗ คน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมด้านพยาบาลเบื้องต้นและจัดให้มีเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ เพื่อติดต่อสื่อสารด้านการรักษาพยาบาลกับแพทย์และพยาบาลตลอดเวลา แม้จะไม่มีพยาบาลอยู่ประจำบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณเช่นเดิมก็ตาม แต่วิธีการใหม่นี้ก็มิได้ทำให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นยิ่งหย่อนไปกว่าเดิมเลย หากมีความจำเป็นแพทย์หรือพยาบาลจะเดินทางไปรักษาด้วยตนเองอีกด้วย นอกจากนี้จำเลยได้จัดให้มีเรือและเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์สำหรับใช้เดินทางไปยังเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณ ถ้าเดินทางด้วยเรือใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที ถ้าเดินทางโดยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ใช้เวลาเพียง ๑๕ นาทีเท่านั้น ทั้งปรากฏว่าหลังจากเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเอราวัณได้รับการซ่อมแซมแล้วทำให้พนักงานบนเรือทำงานปลอดภัยขึ้นกว่าเดิมด้วยจึงเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการในการรักษาพยาบาลที่จำเลยจัดให้ใหม่นี้มิได้ทำให้ลูกจ้างจำเลยได้รับสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลน้อยลงกว่าเดิม จำเลยจึงมีอำนาจในการบริหารกิจการและการจัดสวัสดิการของจำเลยตามระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน เอกสารหมาย ล.๒ ข้อ ๕.๒ และข้อ ๒๙

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

ที่มา : ศาลฎีกา

อัพเดทล่าสุด