การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กรณี การจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย


874 ผู้ชม


การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กรณี การจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย




ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 4535/2549       

นายวีเลิศ อรุณชัยรัตน์

       โจทก์

บริษัทควีนแมรี่ จำกัด

       จำเลย

       

 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

ป.พ.พ. มาตรา 583

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2541 จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการทั่วไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 41,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 27 ถึง 30 ของเดือน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 กรมบังคับคดีได้มีหนังสือถึงจำเลยให้อายัดเงินเดือนของนายสมชาติ อังกาบสี จำนวนร้อยละสามสิบ โจทก์ในฐานะผู้บังคับบัญชาจึงแจ้งกรมบังคับคดีว่านายสมชาติทำงานอยู่กับจำเลยและจะทำการหักเงินเดือนนายสมชาติส่งให้ ต่อมาโจทก์ทราบว่านายสมชาติเป็นพนักงานของบริษัทแกรนด์ เพิร์ล จำกัด ซึ่งมีที่ตั้งบริษัทอยู่ที่เดียวกับจำเลย โจทก์จึงทำหนังสือฉบับใหม่เพื่อแจ้งให้กรมบังคับคดีทราบว่านายสมชาติไม่ได้เป็นพนักงานของจำเลย แต่จำเลยระงับหนังสือดังกล่าวแล้วอ้างว่าโจทก์ปลอมแปลงลายมือชื่อจำเลย ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 18 เมษายน 2548 โดยไม่ได้ตักเตือนหรือสอบสวนตามข้อบังคับการทำงานของโจทก์ การกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิดร้ายแรง และไม่ทำให้จำเลยเสียหายแต่อย่างใด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายในเดือนเมษายน 2548 จำนวน 18 วัน คิดเป็นเงิน 24,899.94 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 45 วัน เป็นเงิน 62,249.85 บาท ค่าชดเชยจำนวน 240 วัน เป็นเงิน 331,999.20 บาท ค่าเครื่องแบบที่จำเลยหักไว้เป็นเงิน 2,500 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 5 วัน เป็นเงินจำนวน 6,916.65 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 4,482,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเครื่องแบบ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการทั่วไป เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือที่ ยธ 0511 (3)/4804 แจ้งเตือนให้บริษัทจำเลย ส่งเงินตามที่แจ้งอายัดค่าจ้างร้อยละสามสิบของเงินเดือน เงินโบนัสประจำปีและเงินตอบแทนกรณีออกจากงานเต็มจำนวนของนายสมชาติ อังกาบสี โจทก์ได้ปรึกษาประธานบริษัทจำเลย ซึ่งได้เรียกที่ปรึกษากฎหมายมาหารือกับโจทก์ด้วย ที่ปรึกษากฎหมายได้สอบถามโจทก์แล้ว โจทก์แจ้งว่านายสมชาติไม่ได้เป็นพนักงานของจำเลย ที่ปรึกษากฎหมายจึงแนะนำให้โจทก์ทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยให้โจทกืในฐานะผู้จัดการทั่วไปหรือผู้จัดการใหญ่เป็นผู้ลงนามโดยด่วน เพราะหนังสือจากเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเป็นฉบับที่ 3 แล้ว หากเนิ่นช้าไปอาจมีผลให้ประธานบริษัทจำเลยถูกหมายเรียกไปสอบถามได้ หรืออาจมีโทษจำคุก แต่โจทก์กลับฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยมิได้จัดทำหนังสือชี้แจงดังกล่าว เมื่อที่ปรึกษากฎหมายสอบถามถึง โจทก์ก็จัดทำหนังสือเสนอให้ประธานบริษัทจำเลยเป็นผู้ลงนามโดยแจ้งประธานบริษัทจำเลยว่าที่ปรึกษากฎหมายเป็นผู้แนะนำให้ดำเนินการ เมื่อที่ปรึกษากฎหมายได้สอบถามประธานบริษัทจำเลย โจทก์จึงได้ทำลายเอกสารดังกล่าวและมิได้ทำหนังสือชี้แจงเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยจึงได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2548 จำเลยได้จ่ายเงินเดือนให้แก่โจทก์ในวันเลิกจ้างแต่โจทก์ไม่ยอมรับ การกระทำของโจทก์ถือว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายในกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเนื่องจากโจทก์เป็นผู้จัดการใหญ่ของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างจำนวน 24,899.94 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 6,916.65 บาท ค่าชดเชยจำนวน 331,999.20 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 62,249.85 บาท ค่าเครื่องแบบจำนวน 2,500 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 332,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทแกรนด์ เพิร์ล จำกัด และบริษัทจำเลย ประกอบกิจการเรือสำราญ ใช้สถานที่ประกอบกิจการร่วมกัน โดยมีนายพิชิต กุลเกียรติเดช เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัททั้งสองแต่ผู้เดียว บริษัททั้งสองใช้ลูกจ้างชุดเดียวกัน โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการทั่วไป รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 41,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 27 ถึง 30 ของเดือน และโจทก์ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการของบริษัทแกรนด์ เพิร์ล จำกัด ด้วย นายสมชาติ อังกาบสี เป็นลูกจ้างบริษัทตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ นั่งทำงานอยู่ติดกับโจทก์และรับเงินเดือนจากบริษัทแกรนด์ เพิร์ล จำกัด มูลเหตุคดีนี้สืบเนื่องมาจากกรมบังคับคดีมีหนังสือแจ้งเตือนไปยังกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยว่า กรมบังคับคดียังไม่ได้รับเงินที่แจ้งอายัดเงินค่าจ้างจำนวนร้อยละสามสิบของนายสมชาติ นายพิชิตให้โจทก์ปรึกษากับนายทศพล โตวิชา ซึ่งเป็นทนายความส่วนตัวของนายพิชิต นายทศพลแนะนำให้โจทก์ทำหนังสือแจ้งไปในนามโจทก์ในฐานะผู้จัดการทั่วไป ตามร่างหนังสือแจ้งเอกสารหมาย ล.2 ว่า นายสมชาติไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยจึงไม่สามารถส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่แจ้งอายัดได้ แต่โจทก์เห็นว่านายพิชิตซึ่งเป็นประธานบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย โจทก์จึงทำหนังสือเพื่อแจ้งไปดังกล่าวนำเสนอให้นายพิชิตประธานบริษัทลงนาม แต่นายพิชิตไม่ยอมลงนามและมีคำสั่งให้โจทก์ทำหนังสือลงนามในนามของโจทก์ส่งไป แต่โจทก์ขอให้มีหนังสือมอบอำนาจของนายพิชิตแนบไปด้วย แล้วโจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอย่างร้ายแรงแล้ววินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะเป็นผู้จัดการทั่วไปของทั้งสองบริษัท แต่นายพิชิตเพียงผู้เดียวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัททั้งสอง การให้ผู้อื่นกระทำการใด ๆ แทนอันมีผลผูกพันบริษัท นายพิชิตจะต้องทำหนังสือมอบอำนาจให้กระทำการแทน ที่นายพิชิตสั่งให้โจทก์ออกหนังสือในนามโจทก์จึงไม่ถูกต้อง เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์ไม่ยอมทำตามคำสั่งจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดคำสั่งของนายพิชิตซึ่งเป็นนายจ้างแต่อย่างใด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และยังถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยอุทธรณ์ว่าการออกหนังสือตอบกรมบังคับคดีว่านายสมชาติไม่ได้ทำงานอยู่ในบริษัทของจำเลยไม่ใช่การทำนิติกรรม ไม่มีผลผูกพันเกี่ยวกับสิทธิใด ๆ ของจำเลย โจทก์ในฐานะผู้จัดการทั่วไปสามารถจัดทำและลงนามแจ้งไปได้ คำสั่งของนายพิชิตจึงชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์ไม่ยอมจัดทำหนังสือแจ้งไปตามคำสั่งจึงเป็นการขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและร้ายแรง จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งของนายพิชิตซึ่งเป็นนายจ้างเป็นคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่ โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.3 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลย ขอให้จำเลยส่งเงินให้ตามคำสั่งอายัดโดยด่วนภายในกำหนด 10 วัน มิฉะนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจะรายงานศาลเพื่อหมายเรียกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 ต่อไป ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ทั้งบริษัทจำเลยและบริษัทแกรนด์ เพิร์ล จำกัด มีนายพิชิต กุลเกียรติเดช เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัททั้งสองแต่ผู้เดียว โจทก์เป็นผู้จัดการทั่วไปของทั้งสองบริษัท ทั้งสองบริษัทประกอบกิจการเรือสำราญในสถานประกอบการเดียวกัน ใช้ลูกจ้างชุดเดียวกันทำงาน นายสมชาติ อังกาบสี นั่งทำงานอยู่ติดกับโจทก์ ดังนี้แม้บริษัทแกรนด์ เพิร์ล จำกัด และจำเลยจะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกันและนายสมชาติ เป็นลูกจ้างของบริษัทแกรนด์ เพิร์ล จำกัด แต่โจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของทั้งสองบริษัทย่อมมีหน้าที่จัดการกิจการภายในของทั้งสองบริษัท ตลอดจนมีอำนาจวางระเบียบหรือจัดการเกี่ยวกับการจ่ายหรืองดจ่ายเงินค่าจ้างแก่ลูกจ้างของทั้งสองบริษัท จึงมีเหตุให้โจทก์เชื่อว่าเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดดังกล่าว แต่จำเลยกลับมีคำสั่งไม่ให้โจทก์ส่งเงินตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้โจทก์ทำหนังสือลงนามโจทก์แจ้งว่านายสมชาติไม่ได้ทำงานในบริษัทจำเลย เพื่อปฏิเสธไม่ส่งเงินตามคำสั่งอายัดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ครั้นโจทก์ขอให้มีหนังสือมอบอำนาจของจำเลยเพื่อแนบหนังสือตอบปฏิเสธส่วนราชการดังกล่าวของโจทก์ด้วย นายพิชิตก็ปฏิเสธไม่ทำให้ โจทก์จึงมีเหตุควรกลัวว่าอาจเกิดผลเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดเป็นส่วนตนได้ คำสั่งของนายพิชิตหรือจำเลยดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ดังนั้นการที่โจทก์ไม่ทำตามคำสั่งดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ทั้งมิใช่การจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวยังเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 อีกด้วย ดังนั้นจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์"

พิพากษายืน.

 
 

(ชุติมา จงสงวน - วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - จรัส พวงมณี)

 

แหล่งที่มา    เนติบัณฑิตยสภา

อัพเดทล่าสุด