หลักเกณฑ์ การค้ำประกันการทำงาน ของนายจ้าง เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง


1,046 ผู้ชม


หลักเกณฑ์ การค้ำประกันการทำงาน ของนายจ้าง เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 62/2543

หลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงานของนายจ้างเป็นเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงานที่ทำเป็นหนังสือ จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 และ 11 มีผลผูกพันให้โจทก์นายจ้างและจำเลยที่ 1 ลูกจ้างต้องปฏิบัติตาม เมื่อข้อตกลงนี้มีผลผูกพันโจทก์และเป็นประโยชน์โดยตรงต่อจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ย่อมมีสิทธิยกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อต่อสู้โจทก์ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ปรากฏว่าขณะทำสัญญาค้ำประกันโจทก์ยังไม่มีหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน ต่อมาโจทก์ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์การค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2525 และแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2528 กำหนดวงเงินค้ำประกันโดยให้ถือตำแหน่งที่ว่าจ้างครั้งแรกเป็นเกณฑ์กำหนดวงเงินซึ่งพนักงานระดับ 3 มีวงเงินค้ำประกันจำนวน 100,000 บาทอันเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดโดยสิ้นเชิงตามจำนวนที่โจทก์เสียหาย ต่อมาโจทก์ได้ออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2537 มายกเลิกหลักเกณฑ์การค้ำประกันฉบับ พ.ศ. 2525และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2528 แต่ก็ยังกำหนดวงเงินค้ำประกันของพนักงานคุณวุฒิปริญญาตรี ซึ่งเป็นคุณวุฒิและระดับของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจ้างครั้งแรกให้มีวงเงินค้ำประกันจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 เช่นเดิมหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2537 จึงผูกพันให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตาม โดยเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้กำหนดขึ้นใหม่ มิใช่การบังคับใช้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้มีผลย้อนหลังเมื่อจำเลยที่ 1 เริ่มเข้าทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งนิติกร คุณวุฒิปริญญาตรี จึงย่อมมีวงเงินค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเพียง 100,000 บาท มิใช่ต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้สำหรับตำแหน่งที่จำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์


โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน โดยสัญญาว่าถ้าจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้แทนให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิงภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาเงินของลูกค้าผู้ฝากเงินและเงินของโจทก์ จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างโดยทำเอกสารการถอนเงินขึ้นแล้วปลอมลายมือชื่อผู้ฝากเงินและปลอมเอกสารอย่างอื่นรวม 84 ครั้ง แล้วจำเลยที่ 1 เอาเงินของโจทก์และลูกค้าผู้ฝากเงินไปเป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 1 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 48,834,525.51 บาท เป็นผลให้เงินฝากของลูกค้าที่ฝากไว้ประเภทฝากประจำประเภท 3 เดือน และ 6 เดือนดังกล่าว ซึ่งโจทก์จะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี คิดจากวันที่โจทก์ต้องนำเงินคืนเข้าบัญชีให้แก่ลูกค้าแต่ละครั้งรวมเป็นเงินดอกเบี้ย 10,001,040.24 บาทรวมเป็นเงินค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับทั้งสิ้น 58,844,666.75 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดในเงินดังกล่าวด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 58,844,666.75 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 48,843,525.51 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นผู้ชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ความรับผิดตามหนังสือรับรองและสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ระงับสิ้นผลในทางกฎหมายแล้วจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 เข้าผูกพันตามหนังสือรับรองและสัญญาค้ำประกันการทำงานโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม จำเลยที่ 2เข้าค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งหน้าที่การงานซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติการฝากหรือการเบิกจ่ายเงินดังที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันให้รับผิดเกินกว่าฐานานุรูปและกำลังความสามารถของจำเลยที่ 2 การทำนิติกรรมตามหนังสือรับรองและสัญญาค้ำประกันจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 มิได้ตกลงยินยอมผูกพันตนเองในฐานะลูกหนี้ร่วมและมิได้ตกลงยินยอมสละข้อต่อสู้ของผู้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างหรือกระทำการทุจริต โจทก์มิได้จ่ายเงินคืนให้แก่ลูกค้า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง เพราะโจทก์มีหน้าที่จะต้องชำระดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่ลูกค้าอยู่แล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ (ที่ถูกจำเลยที่ 1) ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย (ที่ถูกโจทก์) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2525 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1ซึ่งทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขาบางวัวได้ปลอมแปลงใบถอนเงินและถอนเงินของลูกค้าจากบัญชีเงินฝากประเภทฝากประจำแล้วทุจริตเอาเงินดังกล่าวไปทำให้โจทก์เสียหายรวมจำนวน 58,844,666.75 บาท และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 48,843,525.51 บาท ขณะที่จำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โจทก์ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน แต่ต่อมาโจทก์ได้กำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2525และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2528 และต่อมาเมื่อปี 2537 โจทก์ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2537 หลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2537 ดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 และ 11 และเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ยิ่งกว่าสัญญาค้ำประกัน จึงต้องบังคับตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นใหม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์ด้วยมาตรา 20 จึงร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ไม่เกิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2537 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 58,844,666.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน48,843,525.51 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินดังกล่าวจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 และ 11 ใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้น แต่ไม่ใช้บังคับแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2537 ไม่มีผลย้อนหลังไปกระทบถึงการค้ำประกันที่ทำขึ้นก่อนตามเอกสารหมาย จ.6 และแม้จำเลยทั้งสองจะทราบว่าจำเลยที่ 1 เริ่มงานในตำแหน่งใดแต่โจทก์จะต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานของจำเลยที่ 1 ให้สูงขึ้น จึงไม่ได้ระบุในสัญญาค้ำประกันว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันในตำแหน่งใดและไม่ได้ระบุวงเงินอย่างสูงที่ผู้ค้ำประกันรับผิดไว้ การให้จำเลยที่ 2 รับผิดในวงเงินอย่างสูงที่กำหนดไว้สำหรับตำแหน่งที่จำเลยที่ 1 เริ่มทำงานหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2537 จึงไม่ชอบนั้นเห็นว่า หลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2537 เป็นเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงานที่ทำเป็นหนังสือ จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 และ 11 มีผลผูกพันให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างและจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างต้องปฏิบัติตาม เมื่อข้อตกลงนี้มีผลผูกพันโจทก์และเป็นประโยชน์โดยตรงต่อจำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิยกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อต่อสู้โจทก์ให้ปฏิบัติตามได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694นอกจากนี้ได้ความว่าขณะทำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 โจทก์ยังไม่มีหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน ต่อเมื่อปลายปี 2525 โจทก์ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์การค้ำประกันการทำงาน พ.ศ.2525 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2528 ตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งข้อ 2 และ 2.3 กำหนดวงเงินค้ำประกันโดยให้ถือตำแหน่งงานที่ว่าจ้างครั้งแรกเป็นเกณฑ์กำหนดวงเงิน ซึ่งพนักงานระดับ 3 มีวงเงินค้ำประกันจำนวน 100,000 บาท อันเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 ที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดโดยสิ้นเชิงตามจำนวนที่โจทก์เสียหายต่อมาโจทก์ได้ออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2537 ตามเอกสารหมาย ล.1 มายกเลิกหลักเกณฑ์การค้ำประกันฉบับ พ.ศ. 2525 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2528 แต่ก็ยังกำหนดวงเงินค้ำประกันของพนักงานคุณวุฒิปริญญาตรี ซึ่งเป็นคุณวุฒิและระดับของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจ้างครั้งแรกให้มีวงเงินค้ำประกันจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 เช่นเดิมหลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงาน พ.ศ. 2537 จึงผูกพันให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตาม โดยเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้กำหนดขึ้นใหม่ มิใช่การบังคับใช้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้มีผลย้อนหลังและเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เริ่มเข้าทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งนิติกร คุณวุฒิปริญญาตรีตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 จึงย่อมมีวงเงินค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเพียง 100,000 บาท ตามทกำหนดไว้ในเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 1.2 และ 1.2.3 มิใช่ต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้สำหรับตำแหน่งที่จำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

ที่มา : ศาลฎีกา


อัพเดทล่าสุด