การเรียกร้องเอาค่าจ้าง หรือประโยชน์อื่นอันเกี่ยวกับ การจ้างหรือการทำงาน


881 ผู้ชม


การเรียกร้องเอาค่าจ้าง หรือประโยชน์อื่นอันเกี่ยวกับ การจ้างหรือการทำงาน




 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2524

การที่ลูกจ้างเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าครองชีพ เป็นการเรียกร้องเอาค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน จึงเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 เมื่อข้อเรียกร้องนั้นพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ย่อมกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามมาตรา 22 วรรคสามคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะบุคคลตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง แต่งตั้งคณะบุคคลเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ลงวันที่ 14ตุลาคม 2519 จึงมีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานนี้ได้

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินซึ่งมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 6ตุลาคม 2519 และยังไม่ยกเลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยย่อมแต่งตั้งคณะบุคคลให้ทำการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 25 ได้


โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 11 คนเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ตัวแทนลูกจ้างของโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนสภาพการจ้างรวม27 ข้อ ซึ่งไม่อาจตกลงกันได้ ผู้แทนลูกจ้างได้แจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าไกล่เกลี่ยสามารถตกลงกันได้ 15 ข้อ กรมแรงงานให้คณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ทำการไกล่เกลี่ยตกลงกันได้อีก6 ข้อ กรมแรงงานได้ส่งข้อพิพาทที่ตกลงไม่ได้ให้จำเลยชี้ขาด จำเลยได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยเฉพาะเกี่ยวกับค่าครองชีพ ชี้ขาดให้โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนคนละ 200 บาทต่อเดือน โจทก์เห็นว่าคำชี้ขาดนี้ผิดต่อข้อเท็จจริงและกฎหมายกล่าวคือ ไม่มีบทกฎหมายใดให้ลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าครองชีพจากนายจ้างหรือกำหนดให้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าครองชีพแก่ลูกจ้าง ทั้งไม่มีกฎหมายให้จำเลยมีอำนาจสั่งเช่นนั้นหากโจทก์ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดให้จ่ายค่าครองชีพแก่ลูกจ้างโจทก์ก็ต้องขาดทุนถึงอาจไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในเรื่องค่าครองชีพ หากศาลเห็นว่าจะต้องจ่ายก็ขอให้โจทก์จ่ายไม่เกินคนละ 50 บาทต่อเดือน

จำเลยให้การว่า จำเลยมีอำนาจชี้ขาดเกี่ยวกับค่าครองชีพอันเป็นข้อพิพาทแรงงานได้ และคำชี้ขาดของจำเลยถึงที่สุดแล้วตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 25

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 บัญญัติว่า "สภาพการจ้าง" หมายความว่า เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้างหรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน การที่ลูกจ้างของโจทก์เรียกร้องให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าครองชีพซึ่งเป็นการเรียกร้องเอาค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานจึงเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันลูกจ้างกระทำได้โดยชอบ เมื่อข้อเรียกร้องนั้นพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ย่อมกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 22วรรคสาม จำเลยในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะบุคคลให้มีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง แต่งตั้งคณะบุคคลเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2519 จึงมีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้างได้

เมื่อ พ.ศ. 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินซึ่งมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้นได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และยังไม่ยกเลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยย่อมแต่งตั้งคณะบุคคลให้ทำการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 25 ได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยเป็นคณะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งทำการวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้างที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว กรณีย่อมต้องด้วยบทบัญญัติของมาตรา 25 วรรคสอง ที่ว่าคำชี้ขาดของคณะบุคคลนั้นให้เป็นที่สุด ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคำว่าให้เป็นที่สุดหมายเฉพาะทางฝ่ายปกครองหรือฝ่ายบริหารไม่หมายรวมถึงห้ามนำคดีมาฟ้องศาลเพื่อขอให้เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำชี้ขาดนั้น ปัญหานี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วในชั้นโจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ไม่รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา จึงไม่วินิจฉัยซ้ำ

เมื่อฟังได้ว่าจำเลยมีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานเกี่ยวกับค่าครองชีพได้ ทั้งการชี้ขาดให้โจทก์จ่ายค่าครองชีพจำเลยก็อาศัยพยานหลักฐานและพฤติการณ์แวดล้อมโดยชอบซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยไม่สุจริตประการใดแล้ว คำชี้ขาดของจำเลยจึงเป็นที่สุดและโจทก์ต้องปฏิบัติตามดังบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 25 วรรคสอง

พิพากษายืน

ที่มา : ศาลฎีกา


อัพเดทล่าสุด