การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แม้เป็นกรณี การขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 328/2543
แม้การที่โจทก์ร่างคำสั่งไม่ให้ อ. ผ่านการทดลองงานให้รองประธานกรรมการของจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในสายงานลงนามอันเป็นผลให้ อ. พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลย โดยไม่ได้ปรึกษาจำเลยที่ 2 ก่อนจะเป็นการขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน แต่โจทก์ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในสายงาน จึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งในกรณีร้ายแรง และการฝ่าฝืนคำสั่งเช่นนี้จำเลยที่ 1 อาจลงโทษโจทก์ได้ แต่เมื่อยังไม่ถึงขนาดที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุสมควรจะเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2541 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ผู้จัดการกลุ่มทรัพยากรบุคคล ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 40,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 21 กรกฎาคม2541 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายโจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 รวม 127 วัน มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นเงิน 40,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 41 วันเป็นเงิน 54,666 บาท ทั้งการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 80,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 54,666 บาท ค่าชดเชยจำนวน 40,000 บาทและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 25,000 บาท จำเลยที่ 1เลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีร้ายแรงจงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายจงใจขัดคำสั่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการกระทำไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2541 ในตำแหน่งผู้จัดการกลุ่มทรัพยากรบุคคลของกลุ่มบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 40,000 บาท มีหน้าที่ดูแลงานด้านบุคคลบริษัทในเครือรวม4 บริษัท ได้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 บริษัทไทยฮอทปิตอลโปรดักส์ จำกัด บริษัทเดอสเตอร์ไทยแอร์ไล จำกัด บริษัทไทยดัสโปเซอร์เบิล จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการและมีนางนันทาหรือแนนซี่ มธุรพร เป็นรองประธานกรรมการมีอำนาจกระทำการแทนบริษัททั้งสี่จำเลยที่ 2 แจ้งแก่โจทก์ว่าก่อนจะมีคำสั่งใด ๆ เกี่ยวกับนางสาวอักษร ทองน้อย รักษาการตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิต จะต้องปรึกษากับจำเลยที่ 2 ก่อน ต่อมานางนันทาหรือแนนซี่มีคำสั่งให้โจทก์ร่างคำสั่งไม่ให้นางสาวอักษร ผ่านการทดลองงานให้นางนันทาหรือแนนซี่ลงนาม อันเป็นผลให้นางสาวอักษรพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2541 ครั้นวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 จำเลยที่ 2 จัดประชุมพนักงานขึ้น แล้วโจทก์ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเลิกจ้างนางสาวอักษรต่อที่ประชุม วันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าโจทก์ให้ความเห็นในที่ประชุมก่อนจำเลยที่ 2 อนุญาตเป็นการดูหมิ่นจำเลยที่ 2 และขัดคำสั่งจำเลยที่ 2 เนื่องจากโจทก์เลิกจ้างนางสาวอักษรโดยไม่ได้ปรึกษากับจำเลยที่ 2 ก่อน การที่โจทก์แสดงความเห็นในที่ประชุมก่อนที่จำเลยที่ 2 อนุญาตให้พูดนั้น มิใช่เป็นการดูหมิ่นจำเลยที่ 2 เพราะโจทก์ผู้เข้าร่วมประชุมมีสิทธิแสดงความเห็นได้ เพียงแต่เป็นการกระทำที่ไม่สมควรเท่านั้น ส่วนการที่โจทก์ร่างคำสั่งไม่ให้นางสาวอักษรผ่านการทดลองงานให้นางนันทาหรือแนนซี่ลงนามโดยไม่ได้ปรึกษากับจำเลยที่ 2 ก่อนนั้น เป็นการขัดคำสั่งของจำเลยที่ 2 แต่เป็นการทำตามคำสั่งของนางนันทาหรือแนนซี่ รองประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา จึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งในกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และเหตุดังกล่าวมิใช่เหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กำหนดค่าเสียหายให้จำนวน 20,000 บาท แต่โจทก์ถูกเลิกจ้างเนื่องจากจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชยจำนวน 40,000 บาท ค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างนางสาวอักษรโดยไม่ปรึกษาจำเลยที่ 2 ก่อน เป็นการขัดคำสั่งของจำเลยที่ 2 ในกรณีร้ายแรง จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสองไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์นั้น เห็นว่า แม้การที่โจทก์ร่างคำสั่งไม่ให้นางสาวอักษรผ่านการทดลองงานให้นางนันทาหรือแนนซี่รองประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ลงนาม อันเป็นผลให้นางสาวอักษรพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ปรึกษาจำเลยที่ 2 ก่อนนั้น จะเป็นการขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนางนันทาหรือแนนซี่ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในสายงาน จึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งในกรณีร้ายแรง และการฝ่าฝืนคำสั่งเช่นนี้จำเลยที่ 1 อาจลงโทษโจทก์ได้ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุสมควรจะเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน
ที่มา : ศาลฎีกา