การเลิกจ้าง เพราะเหตุ เกษียณอายุ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน


1,093 ผู้ชม


การเลิกจ้าง เพราะเหตุ เกษียณอายุ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน




 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2545

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์เกษียณอายุตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โดยมิได้มีการกลั่นแกล้งโจทก์ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49


โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๘๖,๙๒๒ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๑๔๙,๒๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ๙.๙ เท่าของค่าจ้างอัตราสุดท้าย แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์จำนวน ๑๐ เท่า ของค่าจ้างอัตราสุดท้ายซึ่งมากกว่าที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้องอีก จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๒๕ ตำแหน่งพนักงานขับรถ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๗,๖๓๐ บาท ค่าครองชีพ ๗๐๐ บาท ค่าตำแหน่ง ๔๕๐ บาท รวมเป็นเงิน ๘,๗๘๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑๐ ของเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๒ เพราะเหตุเกษียณอายุครบ ๕๕ ปีบริบูรณ์ จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๗๖,๓๐๐ บาท และจ่ายเพิ่มเติมอีก ๑๕,๕๙๗ บาท แก่โจทก์ และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเดิมถูกยกเลิกโดยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ. ๒ ที่กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว หากลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมากกว่า ให้จ่ายตามจำนวนที่มากกว่านั้น จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้องอีก และจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อ ๒.๑ ว่า ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยฉบับเดิมได้ระบุเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างออกจากงานโดยไม่มีความผิดลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายด้วย แต่จำเลยได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยใหม่ โดยยกเลิกเรื่องการจ่ายเงินบำเหน็จ และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่าเป็นค่าชดเชย แต่ใช้หลักเกณฑ์วิธีพิจารณาและการคำนวณเหมือนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเดิม ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับเงินบำเหน็จต่อไป เป็นการลดสิทธิต่าง ๆ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเดิมซึ่งไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างและขัดต่อกฎหมายจึงไม่มีผลใช้บังคับ การจ่ายเงินเมื่อเลิกจ้างตามข้อบังคับใหม่จึงถือเป็นเงินบำเหน็จหรือเงินประการอื่น มิใช่ค่าชดเชยตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายมาในคำฟ้องว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานใหม่ของจำเลยขัดต่อกฎหมายเพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อโจทก์ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ ๒.๒ ที่ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเท่ากับอายุงานของโจทก์เป็นเงิน ๑๔๙,๒๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์เกษียณอายุตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โดยมิได้มีการกลั่นแกล้งโจทก์ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามฟ้องให้แก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

ที่มา : ศาลฎีกา


อัพเดทล่าสุด