ฟ้องตัวแทนหางานในประเทศไทย


598 ผู้ชม


ฟ้องตัวแทนหางานในประเทศไทย




คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 26/2547

 

ตัวกลางอยู่ต่างประเทศ-ตัวแทนจัดหาคนงานในประเทศ- ค่าล่วงเวลา-ค่าทำงานในวันหยุด-ค่าเสียหายจากการเลิกสัญญา – ค่าบริการค่าใช้จ่าย

 

      โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 254 จำเลยในฐานะตัวแทน บริษัท เอ็ม นายจ้างตัวการซึ่งอยู่ประเทศบรูไน ตกลงจัดส่งโจทก์ไปทำงานกับนายจ้างที่ประเทศบรูไน ทำหน้าที่ช่างประกอบท่อมีระยะเวลาจ้าง 2 ปี ตามสัญญาจ้างกำหนดให้โจทก์ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง วันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ แต่นายจ้างมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมง และให้ทำงานโดยไม่มีวันหยุด กับนำโจทก์ไปตรวจโรคทำให้โจทก์ไม่ได้ทำงานขาดรายได้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ และค่าเสียหายจากการขาดรายได้ การที่นายจ้างเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญา โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอบังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง และให้จำเลยคืนเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจำนวน 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องแก่โจทก์

      จำเลยยังไม่ได้ให้การระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานกลางเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ และส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัย

     

      อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ ค่าเสียหายจากการที่นายจ้างเลิกจ้างก่อนครบกำหนดสัญญาจากจำเลยในฐานะตัวแทนบริษัท เอ็ม.  นายจ้างตัวการซึ่งอยู่ในประเทศบรูไน และเรียกค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานนั้นตามคำฟ้องในส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าเสียหายจาการขาดรายได้และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างจากจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทนนายจ้างซึ่งอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยต้องรับผิดแทนนายจ้างตัวการ ซึ่งปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยส่วนนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8(1)

     

      ส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานคืนจากจำเลยนั้น การฟ้องเรียกค่าบริการและค่าใช้จ่ายเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐมุ่งประสงค์ให้การควบคุมดูแลผู้รับอนุญาตจัดหางาน มิให้เอาเปรียบหรืหลอกลวงคนหางานโดยกำหนดมาตรการควบคุมการจัดหางาน ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นคนหางานกับจำเลยซึ่งเป็นผู้รับอนุญาตจัดหางานเป็นไปตามสัญญาจัดหางานและพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ทั้งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มิใช่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและมิใช่กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ คดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่เรียกค่าบริการและค่าใช้จ่ายจึงไม่มีลักษณะเป็นคดีแรงงาน ตามพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8

    

      วินิจฉัยว่าคดีในส่วนฟ้องเรียกค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ และค่าเสียหายจากการที่นายจ้างเลิกจ้างก่อนครบกำหนดสัญญานั้น อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน

       ส่วนคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน

วินิจฉัย ณ วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2547

นายประทีป อ่าววิจิตรกุล

อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงาน

ที่มา : สมบัติ ลีกัล


อัพเดทล่าสุด