คำพิพากษาฎีกาที่ 5608/2544 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533


602 ผู้ชม


คำพิพากษาฎีกาที่ 5608/2544 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533




    พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ลักษณะ 2 หมวด 1 บัญญัติให้เรื่องการเป็นผู้ประกันตน รวมถึงการสิ้นสุดของความเป็นผู้ประกันตน ซึ่งอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของสำนักงานประกันสังคมจำเลย และยังให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนต่อจำเลยตามมาตรา 39 ว่า หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมที่สั่งการตามกฎหมายฉบับนี้ ให้โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งตามมาตรา 85 คณะกรรมการอุทธรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 86ก็เป็นคณะกรรมการของจำเลยโดยให้ผู้แทนสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการเพื่อต้องการให้คณะกรรมการอุทธรณ์ได้ตรวจสอบคำสั่งของเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมอีกชั้นหนึ่ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นคำสั่งในหน่วยงานของจำเลย นอกจากนี้มาตรา 87 วรรคท้าย ยังได้บัญญัติรับรองสิทธิของโจทก์ไว้อีกว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ดังนี้เมื่อจำเลยแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ และคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยมีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์โจทก์การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ออกมาใช้บังคับโดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่น บทบัญญัติมาตราใดที่กำหนดเงื่อนไขให้บุคคลดังกล่าวต้องสิ้นสิทธิจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดว่าต้องเป็นกรณีกระทำโดยเจตนาเท่านั้น พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 41 (4) ที่บัญญัติให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงเมื่อผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หมายถึงกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบโดยจงใจและไม่มีพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบ โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าบริษัท ธ.ยกเลิกการส่งเงินสมทบแทนโจทก์และโจทก์ไม่ได้จงใจไม่ส่งเงินสมทบ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบ ความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์จึงยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 41 (4)

ที่มา : สำนักงานศาลยุติธรรม


อัพเดทล่าสุด