ลูกจ้างถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจวายหลังจากเลิก สัมมนา


677 ผู้ชม


ลูกจ้างถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจวายหลังจากเลิก สัมมนา




คดีแดงที่  2043/2532

นางอาภา บัวบาน จ.
กรมแรงงาน ล.

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 (ประสบอันตราย)

ลูกจ้างถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจวายหลังจากเลิกสัมมนา อันถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างแล้วเป็นเวลาถึงประมาณ 10 ชั้วโมง เช่นนี้ จึงไม่อาจถือได้ว่าลูกจ้างนั้นถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาของนายรัฐพล บัวบาน ซึ่งเป็นพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในรอบ ๖ เดือนที่ผ่านมา นายรัฐพลต้องตรากตรำทำงานทั้งงานประจำและงานนอกเหนือจากงานประจำ ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๓๑ เวลา ๘.๐๐ นาฬิกา นายรัฐพลได้ปฏิบัติงานตามปกติจนกระทั่งเวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา จึงเดินทางไปโรงแรมรีเจนท์ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรีเพื่อไปประชุมสัมมนา วันรุ่งขึ้นได้ร่วมสัมมนาตั้งแต่เวลา ๘.๓๐ นาฬิกาจนถึง ๑๘.๑๕ นาฬิกา เมื่อรับประทานอาหารเย็นแล้วก็ได้พักผ่อน เมื่อเวลา ๔ นาฬิกาของวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๓๑ จึงเกิดอาการหัวใจวายถึงแก่ความตาย โจทก์ได้เรียกร้องเงินทดแทนพนักงานเงินทดแทนวินิจฉัยว่า นายรัฐพลมิได้เจ็บป่วยด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน โจทก์จึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติว่า นายรัฐพลมิได้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทน โจทก์เห็นว่านายรัฐพลถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนจำนวน ๙๖๓,๓๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชอบด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า น่าเชื่อตามความเห็นของแพทย์ว่านายรัฐพลมีโรคเกี่ยวกับหัวใจอยู่ก่อนแล้วโดยตนเองไม่ทราบ จึงเป็นไปได้ที่เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจจะถูกไขมันอุดตันได้ง่ายในขณะนอนหลับเนื่องจากโลหิตไหลช้า สำหรับความเครียดนั้นแม้จะเครียดอย่างไรก็ไม่ทำให้หัวใจวายได้ นอกจากนี้ยังได้ความว่าในวันที่มีการสัมมนานายรัฐพลเลิกสัมมนาตั้งแต่เวลา ๑๘.๓๐ นาฬิกา ต่อมาเวลา ๒๒ นาฬิกา ก็ยังลุกขึ้นมาเปิดประตูให้นายกิตติซึ่งนอนอยู่ในห้องเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าสภาพร่างกายของนายรัฐพลในขณะนั้นยังปกติดีอยู่ ไม่ได้เจ็บป่วยหรือมีอาการของโรคหัวใจให้เห็น เพิ่งถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นอีกราว ๖ ชั่วโมง การที่นายรัฐพลตายหลังจากเลิกสัมมนาอันถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างแล้วเป็นเวลาถึงประมาณ ๑๐ ชั่วโมง เช่นนี้จึงไม่อาจถือได้ว่านายรัฐพลถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

 

(วิศิษฏ์ ลิมานนท์ - เพียรสนอง - ศิลปชัย มัทธุรศ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายจุมพล ณ สงขลา

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด