ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน


688 ผู้ชม


ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน




คดีแดงที่  2062/2545

บริษัททานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด โจทก์
นายบรรพต โพธิ์นุต จำเลย

 

พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม.5 , 10 , 20

โจทก์ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ให้พนักงานทั่วไปทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน และมีวันหยุดประจำสัปดาห์ 1 วัน คือวันอาทิตย์ การที่โจทก์ให้พนักงานบางแผนกหยุดสลับกันในวันเสาร์โดยมิได้ประกาศหรือมีคำสั่งว่าวันเสาร์เว้นวันเสาร์เป็นวันหยุดแต่อย่างใดยังถือไม่ได้ว่า โจทก์มีเจตนาเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยให้วันเสาร์เว้นวันเสาร์เป็นวันหยุดสัปดาห์เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง การที่โจทก์ประกาศให้ลูกจ้างมาทำงานทุกวันเสาร์ จึงเป็นการสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติงานในวันทำงานตามปกติ ลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานที่มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่ลูกจ้างของโจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์มีข้อตกลงให้ลูกจ้างทำงานในวันเสาร์เว้นเสาร์แต่ต่อมาโจทก์มีคำสั่งให้ลูกจ้างมาทำงานในวันเสาร์ทุกเสาร์ โจทก์จึงต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดวันเสาร์แก่ลูกจ้างของโจทก์ คำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และนางอิงอรทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าให้มีวันหยุดในวันเสาร์เว้นวันเสาร์และวันอาทิตย์ในแต่ละสัปดาห์ ต่อมาโจทก์ได้ให้ลูกจ้างทั้งสามมาทำงานในวันเสาร์ทุกวันโดยจ่ายเงินเพิ่มให้เดือนละ ๒๐๐ บาท ลูกจ้างทั้งสามเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน จึงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดนครปฐม จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔ สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ ๒/๒๕๔๔ ให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่ลูกจ้างทั้งสาม คำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ ๒/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔ ของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ ๒/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔ ที่ให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่นายจักรพงษ์ ผ่องสุภาพ นางสาวศิริรัตน์ ศักดิ์มงคล และนางอิงอร หนูเอียด (สกุลตัน) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ตกลงให้ลูกจ้างทั้งสามมีวันหยุดงานทุกวันอาทิตย์และหยุดงานในวันเสาร์เว้นวันเสาร์ตลอดมา การที่โจทก์มีคำสั่งให้ลูกจ้างทั้งสามทำงานในวันเสาร์ทุกวัน โดยคงมีวันหยุดงานเฉพาะวันอาทิตย์เพียงวันเดียวนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระหนักขึ้น เมื่อลูกจ้างทั้งสามไม่ได้ตกลงยินยอม โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจที่จะทำได้ โจทก์จึงต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างทั้งสาม พิเคราะห์แล้วศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ฉบับเดิมเอกสารหมาย จ.๒ ซึ่งประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๓ และฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.๓ ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๒ ได้กำหนดวันทำงานและเวลาทำงานปกติของโจทก์ไว้ในทำนองเดียวกันคือ ทำงานสัปดาห์ละ ๖ วัน เวลาทำงานปกติไม่เกินวันละ ๘ ชั่วโมง มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ๑ วัน คือวันอาทิตย์ ทางปฏิบัติโจทก์ให้ลูกจ้างแผนกการตลาดและขายต่างประเทศ แผนกการตลาด แผนกการตลาดและขายในประเทศ แผนกงบประมาณ แผนกบัญชี แผนกการเงิน แผนกจัดซื้อเม็ดพลาสติกแผนกสารสนเทศ และแผนกประสานการผลิต ทำงานวันจันทร์ถึงวันเสาร์ โดยให้ทำงานวันเสาร์เว้นวันเสาร์สลับกันไป ส่วนวันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ นายจักรพงษ์ นางสาวศิริรัตน์ และนางอิงอรเป็นลูกจ้างโจทก์ ช่วงปี ๒๕๓๙ ถึง ๒๕๔๐ ในแผนกขายต่างประเทศ ทำงานกับโจทก์โดยมีวันหยุดดังกล่าว ต่อมาวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ โจทก์ออกประกาศให้ลูกจ้างโจทก์แผนกต่างๆ ดังกล่าวมาทำงานทุกวันเสาร์ตามเอกสารหมาย จ.๔ เห็นว่า การที่โจทก์มีคำสั่งให้ลูกจ้างของโจทก์บางแผนกไม่ต้องทำงานในวันเสาร์ในลักษณะวันเสาร์เว้นวันเสาร์สลับกันไปนั้นเป็นอำนาจบริหารจัดการของโจทก์ซึ่งโจทก์ย่อมมีอำนาจกระทำได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อผลประโยชน์ของโจทก์ และการอนุญาตให้ลูกจ้างไม่ต้องทำงานในลักษณะดังกล่าว โจทก์ก็อนุญาตแก่ลูกจ้างเป็นบางแผนกเท่านั้น มิใช่เป็นคำสั่งที่ให้ลูกจ้างของโจทก์ทั้งหมดถือปฏิบัติ อีกทั้งโจทก์ก็มิได้ประกาศให้วันเสาร์เว้นวันเสาร์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของโจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์อนุญาตให้ลูกจ้างไม่ต้องทำงานในวันเสาร์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาตามที่โจทก์เห็นสมควรเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยให้วันเสาร์เว้นวันเสาร์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์เพิ่มขึ้นอีก ๑ วัน ฉะนั้น การที่โจทก์ประกาศให้ลูกจ้างของโจทก์มาปฏิบัติงานในทุกวันเสาร์ตามเอกสารหมาย จ.๔ จึงเป็นการออกคำสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติงานในวันทำงานตามปกติ ซึ่งลูกจ้างทุกคนของโจทก์จะต้องปฏิบัติตามอยู่แล้วตามที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด การที่ลูกจ้างทั้งสามของโจทก์ทำงานในวันเสาร์จึงเป็นการทำงานในวันทำงานตามปกติ ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามที่จำเลยวินิจฉัย ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

นายอนันต์ ชุมวิสูตร ผู้ตรวจ

นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ย่อ

นายไมตรี ศรีอรุณ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

 

(ปัญญา สุทธิบดี - พูนศักดิ์ จงกลนี - เกษมสันต์ วิลาวรรณ )

 

ศาลแรงงานกลาง - อนันต์ โรจนเนืองนิตย์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด