นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปสถานที่อื่นหรือสถานที่แห่งใหม่
คดีแดงที่ 2228/2545 | นางสาวปรียอร ทองใบใหญ่ โจทก์ |
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 บัญญัติยกเว้นพิเศษให้นายจ้างมีความรับผิดมากขึ้นกว่าปกติในค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด ตามมาตรา 120 หมายถึงกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปสถานที่อื่นหรือสถานที่แห่งใหม่ มิได้หมายความรวมถึงสถานประกอบกิจการอื่นซึ่งนายจ้างมีอยู่ก่อนแล้ว ขณะจำเลยสั่งย้ายโจทก์จากสำนักงานที่กรุงเทพมหานครให้ไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดภูเก็ตนั้น จำเลยมีสถานประกอบกิจการที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการตามมาตรา 120 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามบทบัญญัติดังกล่าว …………………..…………………………………………………………….. โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างและเงินอื่นตามกฎหมายจำนวน 215,632.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้น 202,769.40 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยย้ายแผนกการขายจากกรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการย้ายสถานที่ประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์หรือครอบครัว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยมีสิทธิเรียกค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับ และจำเลยไม่แจ้งการย้ายสถานประกอบกิจการให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน 10 วัน คิดเป็นเงิน 11,613 บาท และโจทก์ได้ออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายในการทำงานแทนจำเลย 22,637 บาท แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษ 104,514 บาท ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 34,838 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้นแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 มกราคม 2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 11,613 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จ และเงินทดรองจ่ายในการทำงาน 22,637 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มกราคม 2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 เป็นบทบัญญัติยกเว้นพิเศษให้นายจ้างต้องมีความรับผิดมากขึ้นกว่าปกติโดยให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้นจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อพิเคราะห์ข้อความตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น" ย่อมหมายถึงนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปสถานที่อื่นหรือสถานที่แห่งใหม่ แต่มิได้หมายความรวมถึงสถานประกอบกิจการที่อื่นซึ่งนายจ้างมีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากนายจ้างย่อมมีอำนาจในการบริหารงานที่จะสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานในสถานประกอบกิจการอื่น ๆ ของนายจ้างตามความเหมาะสมได้ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีคำสั่งปิดสำนักงานแผนกการขายที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 1 มกราคม 2543 และย้ายพนักงานขายทั้งหมดไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดภูเก็ต แม้ศาลแรงงานกลางมิได้ชี้ชัดว่าจำเลยมีสถานประกอบกิจการอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ได้ความชัดจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์เคยถูกจำเลยสั่งให้ไปช่วยทำงานที่สำนักงานของจำเลยสาขาภูเก็ตคราวละประมาณ 1 เดือน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยตั้งสถานประกอบกิจการขึ้นใหม่ที่จังหวัดภูเก็ต แสดงว่าขณะจำเลยสั่งย้ายโจทก์ จำเลยมีสถานประกอบกิจการที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ ดังนั้นการที่จำเลยสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในสถานประกอบกิจการของจำเลยที่จังหวัดภูเก็ตจึงไม่เป็นกรณีที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง. (พูนศักดิ์ จงกลนี - กมล เพียรพิทักษ์ - ปัญญา สุทธิบดี ) ศาลแรงงานกลาง - นายธนบดี กิรัตน์ ศาลอุทธรณ์ -