ทำการตั้งบริษัทซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับนายจ้าง


885 ผู้ชม


ทำการตั้งบริษัทซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับนายจ้าง




คดีแดงที่  239/2545

นายอนุชิต บุญศิริ โจทก์
นางสาวกิติมา ติรเศรษฐเสมา จำเลย

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67, 119 (2)

โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของนายจ้าง มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของนายจ้าง ทำการตั้งบริษัทซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับนายจ้าง และมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้าง ซึ่งบริษัทดังกล่าวย่อมจะต้องดำเนินกิจการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกันกับลูกค้าของนายจ้าง ลูกค้าอาจจะเลือกการใช้บริการการให้คำปรึกษาของบริษัทที่โจทก์ก่อตั้งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมจะต้องกระทบถึงรายได้ของนายจ้าง และทำให้นายจ้างเสียหาย แม้จะไม่ปรากฏว่าบริษัทที่โจทก์ก่อตั้งได้แย่งลูกค้าของนายจ้างหรือมีลูกค้าไปใช้บริการของบริษัทที่โจทก์ตั้งแล้วก็ตาม ก็ต้องถือว่าการที่โจทก์ตั้งบริษัทในลักษณะดังกล่าวเป็นการที่โจทก์จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว นายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) และมาตรา 67 แก่โจทก์

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ดินแดงที่ 7/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543

จำเลยให้การว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ดินแดงที่ 7/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 เป็นคำสั่งที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่โจทก์จะฟ้องเพิกถอนแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ดินแดงที่ 7/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 เฉพาะส่วนที่สั่งว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า มีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ดินแดงที่ 7/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 ในส่วนที่สั่งว่าผู้ร้อง (โจทก์) ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทแอลวีเอ็ม (เอเชีย) จำกัด ตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษาอาวุโส ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทคิวซีดี แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับนายจ้าง อันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้าง ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2543 นายจ้างจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2543 อ้างว่าโจทก์จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทคิวซีดี แมเนจเม้นท์ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2541 เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการเป็นที่ปรึกษา ให้คำปรึกษาด้านระบบคุณภาพ เป็นการกระทำกิจการเช่นเดียวกับนายจ้าง ถือเป็นปฏิปักษ์และจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานประจำสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ดินแดง เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ (ที่ถูกโจทก์ขอค่าจ้างค้างจ่ายด้วย) จำเลยสอบสวนแล้วมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 7/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว จากข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทแอลวีเอ็ม (เอเชีย) จำกัด นายจ้าง มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของนายจ้าง ทำการตั้งบริษัทซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับนายจ้าง และมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้าง ซึ่งบริษัทดังกล่าวย่อมจะต้องดำเนินกิจการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกันกับลูกค้าของนายจ้าง ลูกค้าอาจจะเลือกใช้บริการการให้คำปรึกษาของบริษัทที่โจทก์ก่อตั้งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมจะต้องกระทบถึงรายได้นายจ้าง และทำให้นายจ้างเสียหาย แม้จะไม่ปรากฏว่าบริษัทที่โจทก์ก่อตั้งได้แย่งลูกค้าของนายจ้างหรือมีลูกค้าไปใช้บริการของบริษัทที่โจทก์ตั้งแล้วก็ตาม ก็ต้องถือว่าการที่โจทก์ตั้งบริษัทในลักษณะดังกล่าวเป็นการที่โจทก์จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว นายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) และมาตรา 67 แก่โจทก์ แม้นายพิสิษฐ์ เทอดเกียรติ ผู้ลงนามในหนังสือเลิกจ้างโจทก์ในฐานะเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนายจ้างและนางสาวจรินทร์ ทองรัตนรักษา ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายและบริการธุรกิจของบริษัทนายจ้างจะได้ร่วมกันตั้งบริษัทอื่นซึ่งมีกิจการอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้างเช่นเดียวกับโจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่นายจ้างจะไปว่ากล่าวเอาโทษแก่บุคคลทั้งสองเอง หามีผลทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายที่กล่าวมา กรณีไม่มีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวข้างต้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด.

 

(วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - กมล เพียรพิทักษ์ - หัสดี ไกรทองสุก )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายธนบดี กิรัตน์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด