ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
แดงที่ 6966-6971/2542 | นางเนาวนิตย์ เอี่ยมสอาด กับพวก โจทก์ |
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5, 118
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดว่า ถ้าผลประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับตามโครงการเกษียณอายุก่อนเวลาปกติน้อยกว่าค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานกรณีการเลิกจ้างตามปกติ บริษัทจะจ่ายเงินส่วนที่ขาดอยู่นั้นให้ และจำนวนเงินทั้งหมดที่ลูกจ้างได้รับจากโครงการเกษียณอายุก่อนเวลาปกติให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจ่าย ค่าชดเชยการเลิกจ้างนั้นด้วย ดังนั้น เงินผลประโยชน์ตามโครงการดังกล่าวที่จำเลยจ่ายไปจึงมีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยแล้ว เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมีสิทธิได้รับเงินผลประโยชน์ตามโครงการดังกล่าว เงินผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจึงมี ค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยแล้ว และเงินผลประโยชน์ดังกล่าวก็มีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีก
…………………..……………………………………………………………..
คดีทั้งหกสำนวนศาลแรงงานกลางรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 6
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 259,200 บาท 240,960 บาท 207,360 บาท 103,200 บาท 287,400 บาท และ 36,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะ ชำระเสร็จและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 476,900 บาท 418,400 บาท 513,000 บาท 1,076,250 บาท 1,053,850 บาท และ 301,000 บาท แก่โจทก์ทั้งหกตามลำดับ
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งหกว่า เงินที่โจทก์ทั้งหกได้รับจากจำเลยตามโครงการเกษียณอายุก่อนเวลาปกติ ถือว่าได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 รวมอยู่ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดว่า ถ้าผลประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับตามโครงการเกษียณอายุน้อยกว่าค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานบริษัทจะจ่ายเงินส่วนที่ขาดอยู่นั้นให้ จำนวนเงินทั้งหมดที่ลูกจ้างได้รับจากโครงการเกษียณอายุให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจ่ายค่าชดเชย การเลิกจ้างด้วย ดังนั้น เงินผลประโยชน์ตามโครงการเกษียณอายุก่อนเวลาปกติที่จำเลยจ่ายไปจึงมีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยแล้ว เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 ถูกเลิกจ้างโดยมีสิทธิได้รับเงินผลประโยชน์ตามโครงการเกษียณอายุก่อนเวลาปกติ เงินผลประโยชน์ที่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 มีสิทธิได้รับจากจำเลย จึงมีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยแล้ว และเงินผลประโยชน์ ดังกล่าวก็มีจำนวนสูงกว่าค่าเชยที่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 อีก ส่วนที่โจทก์ที่ 4 ถึงโจทก์ที่ 6 ถูกเลิกจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ซึ่งเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 4 ถึงโจทก์ที่ 6 ตามสิทธิดังกล่าว ก็คิดคำนวณในลักษณะเดียวกับการคิดคำนวณค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 (3) ทั้งเป็นคุณแก่โจทก์ที่ 4 ถึงโจทก์ที่ 6 และยังเป็นจำนวนที่มากกว่าว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันที่โจทก์ที่ 4 ถึงโจทก์ที่ 6 มีสิทธิได้รับตามข้อ 46 (3) เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 4 ถึงโจทก์ที่ 6 จึงมีค่าชดเชยรวม อยู่ด้วยแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 4 ถึงโจทก์ที่ 6 อีกเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน
(มงคล คุปต์กาญจนากุล - พิมล สมานิตย์ - อร่าม หุตางกูร )
ศาลแรงงานกลาง - นายพงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์
ศาลอุทธรณ์ -