นายจ้างมีข้อตกลงกับลูกจ้างว่าจะหารถประจำตำแหน่งให้


865 ผู้ชม


นายจ้างมีข้อตกลงกับลูกจ้างว่าจะหารถประจำตำแหน่งให้




คดีแดงที่  8690/2544

นางตันตินี ปัทมพงศ์ โจทก์
บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด กับพวก จำเลย

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

นายจ้างมีข้อตกลงกับลูกจ้างว่าจะหารถประจำตำแหน่งให้ แต่ถ้าหากยังหารถไม่ได้ก็จะให้ค่าเช่ารถยนต์ เดือนละ 22,000 บาท ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้หารถประจำตำแหน่งให้ลูกจ้างเป็นหลัก มีข้อยกเว้นว่าหากยังหา รถให้ไม่ได้ก็ให้จ่ายค่าเช่ารถยนต์ให้ลูกจ้าง หากต่อมานายจ้างสามารถหารถประจำตำแหน่งให้ลูกจ้างได้ตามข้อตกลงเมื่อใด นายจ้างก็ไม่จำต้องจ่ายค่าเช่ารถยนต์ดังกล่าวให้ลูกจ้างอีกต่อไป ค่าเช่ารถยนต์รายเดือนที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง ถือว่าเป็นสวัสดิการ มิใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน แม้จะจ่ายเงินจำนวน แน่นอนเท่า ๆ กัน ทุกเดือนก็มิใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันจ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 194,699 บาท กับค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 11,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งหกคนให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 และที่ 6 ศาลแรงงานกลางอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะ จำเลยที่ 5 และที่ 6

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์อีก 88,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ค่าเช่ารถยนต์หรือค่าชดเชยรถยนต์ ที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์ทุกเดือนเดือนละ 22,000 บาท นั้น เป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกับโจทก์ว่าจะหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ แต่ถ้าหากยังหารถไม่ได้ ก็จะให้ค่าเช่ารถยนต์เดือนละ 22,000 บาท ข้อตกลงของโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่ามีการกำหนดให้จำเลยที่ 1 หารถประจำตำแหน่งให้โจทก์เป็นหลัก มีข้อยกเว้นว่า หากยังหารถให้ไม่ได้ก็ให้จ่ายค่าเช่ารถยนต์ให้โจทก์ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะยังหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ไม่ได้จึงต้องจ่ายค่าเช่ารถยนต์ให้โจทก์ไปแล้วกี่เดือนก็ตาม หากต่อมาจำเลยที่ 1 สามารถหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ได้ตามข้อตกลงเมื่อใด จำเลยที่ 1 ก็ไม่จำต้องจ่ายค่าเช่ารถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์อีกต่อไป ดังนั้น ค่าเช่ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์ ตามข้อตกลงในระหว่างที่ยังจัดหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ไม่ได้ ถือว่าเป็นสวัสดิการ มิใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน แม้จะจ่ายเงินจำนวนแน่นอนเท่า ๆ กันทุกเดือน ก็มิใช่ค่าจ้าง การที่ศาลแรงงานกลางนำเอาค่าเช่ารถยนต์เดือนละ 22,000 บาท ไปคิดรวมเป็นค่าจ้างของโจทก์เป็นเงินเดือนละ 97,000 บาท จึงไม่ถูกต้องที่ถูกเป็นค่าจ้างเพียงเดือนละ 75,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ 1 จำนวน 1 เดือน จึงเป็นเงินเพียง 75,000 บาท และค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน เป็นเงิน 225,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 300,000 บาท เท่ากับจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับไปจากจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเงินดังกล่าวได้อีก…

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

 

(หัสดี ไกรทองสุก - กมล เพียรพิทักษ์ - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายอรรถพงษ์ กุลโชครังสรรค์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด