นายจ้างที่ไม่พอในคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสามารถนำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน
คดีแดงที่ 6374/2544 | นายธนกฤช โชคเสถียร กับพวก โจทก์ |
ป.วิ.พ. มาตรา 55
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอในคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสามารถนำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยมาตรา 125 วรรคสาม กำหนดให้นายจ้างที่นำคดีไปสู่ศาลต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงจะฟ้องคดีได้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งตามมาตรา 124 แล้วโจทก์เป็นฝ่ายนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลแรงงานเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โจทก์ก็ต้องนำเงินที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานมาวางศาล เมื่อโจทก์ไม่นำเงินดังกล่าวมาวางต่อศาลแรงงานภายในเวลาที่ศาลแรงงานกำหนด โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
…………………..……………………………………………………………..
คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองจ่ายค่าชดเชยค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (ที่ถูกคือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า) และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างยังไม่ได้ใช้สิทธิให้แก่ลูกจ้าง พร้อมเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันในเงินค้างชำระจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองฉบับดังกล่าว และโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลาง อ้างว่าจำเลยไม่มีอำนาจสั่งให้โจทก์ทั้งสองรับผิดจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างของบริษัทสุภัทร์ธนากรเปเปอร์มิล จำกัด ขออนุญาตไม่วางเงินต่อศาล
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาต ยกคำร้องและให้โจทก์ทั้งสองวางเงินต่อศาลภายใน 7 วัน แล้วจึงจะพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อไป
เมื่อครบกำหนด 7 วันตามคำสั่งของศาลแรงงานกลาง โจทก์ทั้งสองไม่นำเงินมาวางศาล ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งว่า "โจทก์ไม่วางเงินภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด รับคำฟ้อง สำเนาให้จำเลย โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่วางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง"
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองต้องวางเงินตามจำนวนที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามคำสั่งทั้งสองฉบับของจำเลยต่อศาลหรือไม่ และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่วางเงินดังกล่าวต่อศาลตามกำหนดเวลาที่ศาลแรงงานกลางกำหนด โจทก์ทั้งสองจะมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสามารถนำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยมาตรา 125 วรรคสาม กำหนดให้นายจ้างที่นำคดีไปสู่ศาลต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จึงจะฟ้องคดีได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดอ่างทองที่ 10/2543 และที่ 11/2543 ของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งตามมาตรา 124 แล้วเป็นฝ่ายนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โจทก์ทั้งสองก็จะต้องนำเงินที่ถึงกำหนดจ่าวตามคำสั่งของจำเลยมาวางศาลจึงจะฟ้องคดีได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่นำเงินดังกล่าวมาวางต่อศาลแรงงานกลางภายในเวลาที่ศาลแรงงานกลางกำหนด โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน .
(รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - จรัส พวงมณี )
ศาลแรงงานกลาง - นายบุญทอง ปลื้มวรสวัสดิ์
ศาลอุทธรณ์ -