นายจ้างจ่ายค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ให้แก่ลูกจ้าง ลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือน


684 ผู้ชม


นายจ้างจ่ายค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ให้แก่ลูกจ้าง ลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือน




คดีแดงที่  7402-7403/2544

นายธงชัย พรศิริเสวี โจทก์
บริษัทซีลเทค อินดัสตรีส์ จำกัด จำเลย

 

ป.วิ.พ. มาตรา 240 (3), 243 (2)
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5, 119
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49

นายจ้างจ่ายค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ให้แก่ลูกจ้างในลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือน เป็นเงินเท่า ๆ กันทุกเดือน โดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะได้ใช้จ่ายเงินเป็นค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์หรือไม่ หรือได้ใช้จ่ายไปเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด ทั้งลูกจ้างไม่ต้องแสดงใบเสร็จค่าน้ำมันรถหรือใบเสร็จค่าโทรศัพท์เป็นหลักฐานในการรับเงินดังกล่าว เงินค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ดังกล่าวจึงเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

บทบัญญัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม ที่ว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้" ไม่รวมถึงข้อต่อสู้ในเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ศาลจะต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างของนายจ้างว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ ซึ่งเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวอาจไม่ใช่เหตุตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ก็ได้ การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยจะยกเหตุว่าจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์มีความบกพร่องหรือมีความผิดตามคำให้การของจำเลยมาเป็นข้อต่อสู้ในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

…………………..……………………………………………………………..

 

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยที่ยังขาดอยู่แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 24,000 บาท และจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเพิ่มเติมให้โจทก์ทั้งสองคนละ 18,000 บาท จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 6,000 บาท และจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้นที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์แต่ละคนดังกล่าวด้วย โดยให้คำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2543 อันเป็นวันผิดนัดไปจนถึงวันชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนประการแรกว่า ค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองรวมคนละ 6,000 บาท ต่อเดือนนั้นเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยจ่ายค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ให้แก่โจทก์ทั้งสองในลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือน เป็นเงินเดือนละ 6,000 บาท เท่า ๆ กันทุกเดือนโดยไม่คำนึงว่าโจทก์ทั้งสองจะได้ใช้เงินเป็นค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์หรือไม่ หรือได้ใช้จ่ายไปเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด อีกทั้งโจทก์ทั้งสองไม่ต้องแสดงใบเสร็จค่าน้ำมันรถหรือใบเสร็จค่าโทรศัพท์เป็นหลักฐานในการรับเงินดังกล่าวอีกด้วย เงินค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยและโจทก์ทั้งสอง จึงถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้าแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยนำเอาค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ไปรวมเข้ากับเงินเดือนอัตราสุดท้ายของโจทก์ทั้งสองเป็นฐานในการคำนวณด้วยจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนต่อไปว่า จำเลยจะยกเหตุเลิกจ้างอื่น ๆ ที่มิได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างมาเป็นข้อต่อสู้ว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังยุติได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ได้ระบุเหตุผลของการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างดังกล่าวก็ตาม แต่บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม ที่ว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้" นั้น ข้อห้ามดังกล่าวไม่รวมถึงข้อต่อสู้ในเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วย เนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 นั้น ศาลจะต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างของนายจ้างว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ ซึ่งเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวอาจไม่ใช่เหตุตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ก็ได้ ฉะนั้น คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยจะยกเหตุว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเนื่องจากโจทก์ทั้งสองมีความบกพร่องหรือมีความผิดตามคำให้การของจำเลยมาเป็นข้อต่อสู้ในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้นั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองและจำเลยแล้วพิพากษาในเรื่องนี้ใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะที่วินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รวมทั้งที่กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 35,000 บาทด้วย แล้วให้ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองและจำเลยในเรื่องนี้ใหม่ และพิพากษาไปตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.

 

(ปัญญา สุทธิบดี - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายธนบดี กิรัตน์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด