อาหารวันละ 3 มื้อ ที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้าง


727 ผู้ชม


อาหารวันละ 3 มื้อ ที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้าง




คดีแดงที่  2513/2544

นางสาวศุภวรรณ พัดคุ้ม โจทก์
บริษัทสินทรัพย์ทวีอนันต์ จำกัด จำเลย

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2

อาหารวันละ 3 มื้อ ที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างที่ไปทำงานปกติรับประทาน โดยลูกจ้างซึ่งไม่ได้ไปทำงานหรือเป็นวันหยุดจะไม่ได้รับประทานด้วยนั้น อาหารดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการช่วยการครองชีพของลูกจ้างซึ่งมาทำงานให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง อันมีลักษณะเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างอย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่ค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ต่อมาเมื่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีผลบังคับใช้ทำให้ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวถูกยกเลิก ความหมายคำว่า "ค่าจ้าง" จึงต้องใช้ตามมาตรา 5 ซึ่งหมายถึง "เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ …" ดังนั้น อาหารวันละ 3 มื้อ ที่จำเลยจัดให้แก่โจทก์จึงมิใช่เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน จึงไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานเก็บเงิน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างส่วนที่ขาด และเงินสะสม พร้อมด้วยดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยมีค่าอาหารวันละ 3 มื้อ ให้แก่พนักงานทุกคน เมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วโจทก์ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าเดือนละ 6,600 บาท ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนเงินสะสมจำเลยหักเป็นเงินประกันสังคมในส่วนของจำเลยไว้เท่านั้น โจทก์สมัครใจลาออกจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า อาหารวันละ 3 มื้อ ที่จำเลยจัดให้แก่ลูกจ้างมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือการครองชีพของลูกจ้างที่ไปทำงาน มีลักษณะเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง ไม่ใช่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน อาหารวันละ 3 มื้อ จึงมิใช่ค่าจ้าง โจทก์ไม่ได้ลาออก จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ได้จ่ายต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว การคิดดอกเบี้ยทั้งหมดให้นับตั้งแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ให้ความหมายของคำว่า "ค่าจ้าง" หมายถึง "เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน" อาหารวันละ 3 มื้อ ที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างให้แก่ลูกจ้างที่ไปทำงานปกติรับประทานแสดงให้เห็นว่าลูกจ้างซึ่งมิได้ไปทำงานหรือเป็นวันหยุดไม่ได้รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ เช่นนี้กรณีเห็นได้ว่าอาหารวันละ 3 มื้อ ที่จำเลยจัดให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างนั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการช่วยการครองชีพของลูกจ้างซึ่งมาทำงานในแต่ละวันให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง อันมีลักษณะเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างอย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่ค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว ต่อมาพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 3 ได้บัญญัติให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ดังนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 2 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 จึงถูกยกเลิกไปด้วย ภายหลังที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับแล้วความหมายของคำว่า "ค่าจ้าง" ต้องใช้ตามมาตรา 5 เท่านั้น ซึ่งตามมาตรา 5 คำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า "เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน …" ดังนั้น อาหารวันละ 3 มื้อ คิดเป็นเงินมื้อละ 40 บาท รวมเป็นเงินวันละ 120 บาท ที่จำเลยจัดให้แก่โจทก์จึงมิใช่เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน จึงไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างเช่นกัน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าอาหารวันละ 3 มื้อ ที่จำเลยให้แก่โจทก์มิใช่ค่าจ้างนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

 

(กมล เพียรพิทักษ์ - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายวิเทพ พัชรภิญโญพงศ์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด