สาระสำคัญ 3 ประการ ค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5


1,049 ผู้ชม


สาระสำคัญ 3 ประการ ค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5




คดีแดงที่  1694/2544

บริษัทโรงพยาบาลเอกชล จำกัด (มหาชน) โจทก์
นายไพฑูรย์ ไตรธนสมบัติ จำเลย
นายปรีชา อยู่ประเสริฐ จำเลยร่วม

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

ค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 มีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก ค่าจ้างต้องเป็นเงินที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงจ่ายกันตามสัญญาจ้าง ประการที่สอง เงินที่จ่ายดังกล่าวนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ประการที่สาม เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

เงินค่าตรวจรักษาคนไข้ตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง มีลักษณะเป็นเงินที่คนไข้จ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นแพทย์ ที่ตรวจรักษาคนไข้โดยให้นายจ้างรับไว้แทนแล้วจ่ายคืนให้แก่ลูกจ้างที่ตรวจรักษาคนไข้ในภายหลังโดยหักเงินไว้ส่วนหนึ่ง มิใช่เงินของนายจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 36/2542 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2542

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเรียกนายปรีชา อยู่ประเสริฐ เข้าเป็นจำเลยร่วม

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่จำเลยร่วมได้รับจากโจทก์เป็นค่าจ้างซึ่งต้องนำไปเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยให้แก่จำเลยร่วมหรือไม่ และคำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ค่าจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก ค่าจ้างต้องเป็นเงินที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงจ่ายกันตามสัญญาจ้าง ประการที่สอง เงินที่จ่ายดังกล่าวนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ประการที่สาม เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่แพทย์ของโรงพยาบาลโจทก์รวมทั้งจำเลยร่วมได้รับ เป็นเงินจากการที่แพทย์แต่ละคนใช้ดุลพินิจกำหนดขึ้นในการตรวจรักษาคนไข้แต่ละรายได้แก่ ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าผ่าตัด และค่าเยี่ยมไข้ เป็นต้น ทั้งนี้โจทก์ได้กำหนดอัตราค่าตรวจรักษาคนไข้ไว้เพื่อให้แพทย์ถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน เมื่อแพทย์กำหนดค่าตรวจรักษาคนไข้ไว้แล้ว เจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์จะเป็นผู้เก็บเงินค่าตรวจรักษาคนไข้พร้อมกับค่ายา ค่าเวชภัณฑ์และอื่น ๆ จากคนไข้ในคราวเดียวกัน โดยออกใบเสร็จรับเงินในนามของโจทก์ให้แก่คนไข้ แล้วโจทก์จ่ายเงินค่าตรวจรักษาคนไข้ดังกล่าวให้แก่แพทย์ในภายหลัง ทุกวันที่ 10 และวันที่ 25 ของแต่ละเดือน โดยโจทก์หักเงินไว้ส่วนหนึ่งคิดเป็นร้อยละจากจำนวนเงินค่าตรวจรักษาคนไข้ตามที่ตกลงกัน เห็นว่า แม้เงินค่าตรวจรักษาคนไข้จะเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยร่วมตามข้อตกลงในสัญญาจ้างตามหลักเกณฑ์ประการแรก แต่เงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นเงินที่คนไข้จ่ายให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาคนไข้โดยให้โจทก์รับไว้แทน แล้วจ่ายคืนให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาคนไข้ในภายหลังโดยหักเงินไว้ส่วนหนึ่ง จึงมิใช่เงินของนายจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงานตามหลักเกณฑ์ประการที่สอง และมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามหลักเกณฑ์ประการที่สาม จึงมิใช่ค่าจ้าง ไม่ต้องนำไปเป็นฐานเพื่อคำนวณค่าชดเชยให้แก่จำเลยร่วม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้าง คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนและพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 36/2542 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2542 ของจำเลย.

 

(รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - กมล เพียรพิทักษ์ - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายนิรัตน์ จันทพัฒน์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด