ไม่ไปทำงาน โดยเข้าใจโดยบริสุทธิ์ว่า นายจ้างถูกจำเลยเลิกจ้างแล้ว


591 ผู้ชม


ไม่ไปทำงาน โดยเข้าใจโดยบริสุทธิ์ว่า นายจ้างถูกจำเลยเลิกจ้างแล้ว




คดีแดงที่  4244/2545

นางสาวพรทิพย์ รัศมีเจริญ โจทก์
บริษัทไทยธุรกิจเกษตร จำกัด จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 583
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5, 17, 119
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47 (5)
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49

โจทก์ไม่ไปทำงานเนื่องจากมีพฤติการณ์ที่ทำให้โจทก์เข้าใจโดยบริสุทธิ์ว่าโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างแล้ว ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุนี้จึงต้องจ่ายค่าชดเชย แต่กรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงานไปเสีย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ทั้งเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม

 

…………………..……………………………………………………………..

 

คดีนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีหมายเลขดำที่ 13444/2540 และ 894/2541 ของศาลแรงงานกลาง แต่คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 85,000 บาท ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าอ้างว่าโจทก์ทำงานไม่เป็นที่ยอมรับของคู่ค้าของจำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 68,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 255,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 85,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี กับค่าจ้างค้างจำนวน 17,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งนี้ให้คิดดอกเบี้ยในเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 85,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 68,000 บาท และค่าชดเชยจำนวน 255,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 ตุลาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่นายมณฑป ปัทมพรหม โจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 13444/2540 ของศาลแรงงานกลาง ถูกจำเลยเลิกจ้างแล้วมาบอกโจทก์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยนั้นผูกพันจำเลยและถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ด้วยหรือไม่ การกระทำของโจทก์เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า กับค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 นายมณฑปซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการใหญ่ของจำเลยบอกโจทก์ว่าจ้างจำเลยเลิกจ้างนายมณฑปและโจทก์แล้ว วันรุ่งขึ้นโจทก์จึงไม่ไปทำงานอีก ดังนั้น ขณะที่นายมณฑปบอกโจทก์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ นายมณฑปได้ถูกเลิกจ้างสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของจำเลยไปก่อนแล้ว นายมณฑปจึงไม่มีอำนาจบอกเลิกจ้างโจทก์แทนจำเลยได้ การกระทำของนายมณฑปดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยและไม่ถือว่าเป็นการบอกเลิกจ้างโจทก์แทนจำเลย แต่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการจำเลยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการจำเลยให้นายมณฑปอนุมัติการลาออกของโจทก์ภายในวันที่ 30 กันยายน 2540 นายมณฑปไม่ได้อนุมัติให้โจทก์ลาออกประธานในที่ประชุมจึงแจ้งให้นายมณฑปอนุมัติให้โจทก์ลาออกตามมติครั้งก่อน ถ้าไม่ปฏิบัติก็ให้นายมณฑปลาออก และปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการจำเลยว่า นายมณฑปแถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการจำเลยว่าไม่ได้รับใบลาออกของโจทก์และไม่สามารถบังคับให้โจทก์เสนอใบลาออกตามมติคณะกรรมการจำเลยได้ สำหรับนายมณฑปก็ไม่ยืนยันว่าจะลาออก ที่ประชุมคณะกรรมการจำเลยจึงมีมติให้นายมณฑปลาออกโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2540 หากไม่ยื่นใบลาออกภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2540 ให้เลิกจ้างนายมณฑปโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2540 นอกจากนี้ยังปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการจำเลยว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 นายมณฑปนำโจทก์เข้าพบนายประเสริฐ หนูยิ้มซ้าย กรรมการรักษาการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย โจทก์แจ้งแก่นายประเสริฐว่าตามที่นายมณฑปได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการจำเลยว่าโจทก์เขียนใบลาออกเสนอต่อนายมณฑปแล้วนั้น เป็นความเข้าใจผิดของนายมณฑปความจริงโจทก์ยังไม่ได้เขียนใบลาออกและยังมีความประสงค์จะทำงาน โจทก์และนายมณฑปขอให้นายประเสริฐให้คำแนะนำและหาทางแก้ไขให้โจทก์ได้ทำงานต่อไป แต่นายประเสริฐแจ้งว่า เรื่องนี้เป็นมติของที่ประชุมแล้วไม่สามารถช่วยเหลือและแก้ไขได้จากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่า การที่นายมณฑปซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่และเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์แจ้งแก่โจทก์หลังจากมีการประชุมคณะกรรมการจำเลยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 ว่าจำเลยเลิกจ้างนายมณฑปและโจทก์แล้ว ทั้งก่อนหน้านั้นโจทก์ก็เข้าไปขอร้องนายประเสริฐด้วยตนเองเพื่อขอให้ช่วยหาทางแก้ไขให้โจทก์ได้ทำงานต่อไป แต่นายประเสริฐแจ้งว่าเป็นมติของที่ประชุมคณะกรรมการไปแล้ว ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ จึงน่าจะทำให้โจทก์เข้าใจโดยบริสุทธิ์ใจว่าตนเองถูกจำเลยเลิกจ้างแล้ว ทั้งจำเลยก็มีคำสั่งลงวันที่ 14 ตุลาคม 2540 ให้เลิกจ้างโจทก์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2540 ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ไปทำงานนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2540 เพราะเข้าใจว่าตนถูกเลิกจ้างแล้วจึงมิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47 (5) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว แต่การที่โจทก์เข้าใจผิดเองว่าถูกจำเลยเลิกจ้างแล้ว จึงไม่ไปทำงานอีกเลยนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2540 ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงานไปเสีย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้เช่นเดียวกัน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหาย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

 

(หัสดี ไกรทองสุก - วีรพจน์ เพียรพิทักษ์ - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายประทีป อ่าววิจิตรกุล

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด