เงินค่าคอมมิชชั่น หรือค่าเที่ยว


698 ผู้ชม


เงินค่าคอมมิชชั่น หรือค่าเที่ยว




คดีแดงที่  5394-5404/2547

สมศักดิ์ ฉัตรทันต์ กับพวก โจทก์
บริษัทไทยเจริญทรานสปอร์ต จำกัด จำเลย

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

เงินค่าคอมมิชชั่นหรือค่าเที่ยวที่จำเลยจ่ายให้โจทก์แต่ละคนซึ่งเป็นพนักงานขับรถและพนักงานยกของที่ไปกับรถของจำเลยเมื่อทำตามหน้าที่ของตน โดยจำเลยกำหนดอัตราไว้แน่นอนว่าเที่ยวหนึ่งจะจ่ายให้เท่าใด สามารถคำนวณได้ตามจำนวนเที่ยวที่ทำได้ในเวลาทำงานตามปกติของวันทำงาน มีลักษณะชี้ชัดว่าจำเลยมุ่งหมายจ่ายให้โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานมิใช่จงใจจ่ายเพื่อจูงใจให้โจทก์ขยันทำงาน เงินค่าคอมมิชชั่นหรือค่าเที่ยวจึงเป็นค่าจ้าง ตามความหมายของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

 

…………………..……………………………………………………………..

 

คดีทั้งสิบเอ็ดสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ขาดเป็นเงิน 12,240 บาท 13,680 บาท 41,082 บาท 9,264 บาท 15,015 บาท 17,615 บาท 17,615 บาท 17,856 บาท 29,095 11,505 บาท 12,480 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างนับถัดจากวันฟ้องต่อไปไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด

จำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่ให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,220 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,290 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 10,222.33 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1,270 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 5,735 บาท โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 7,380 บาท โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 3,290 บาท โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 10,232 บาท โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 3,920 บาท และโจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 2,625 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินที่ต้องจ่ายแก่โจทก์ แต่ละคนนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 13 พฤศจิกายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสียและให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 8

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติความหมายของคำว่า "ค่าจ้าง" ไว้ว่า คือเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตาม ผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เมื่อเงินค่าคอมมิชชั่นหรือค่าเที่ยว จำเลยได้จ่ายให้โจทก์ทุกคนเมื่อโจทก์ทุกคนทำตามหน้าที่ของตนซึ่งจำเลยกำหนดอัตราไว้แน่นอนว่าเที่ยวหนึ่งจะจ่ายให้เท่าใด สามารถคำนวณได้ตามจำนวนเที่ยวที่ทำได้ในเวลาทำงานตามปกติของวันทำงานอันมีลักษณะชี้ชัดว่า จำเลยมุ่งหมายจ่ายให้โจทก์ทุกคนเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน มิใช่จงใจจ่ายไปเพื่อจูงใจให้โจทก์ขยันทำงาน ฉะนั้นเงินค่าคอมมิชชั่นหรือค่าเที่ยวจึงเป็น "ค่าจ้าง" ตามความหมายของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

พิพากษายืน

 

(สถิตย์ อรรถบลยุคล - อรพินท์ เศรษฐมานิต - ปัญญา สุทธิบดี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายสละ เทศรำพรรณ

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด