นายจ้างเหมาจ่ายค่าน้ำมันรถให้แก่ลูกจ้าง เป็นรายเดือนทุกเดือน


1,102 ผู้ชม


นายจ้างเหมาจ่ายค่าน้ำมันรถให้แก่ลูกจ้าง เป็นรายเดือนทุกเดือน




คดีแดงที่  4842/2548

นายกิตติพัฒน์ ใจดี โจทก์
บริษัทบ้านแพน เอนจิเนียริ่ง แอนด์ โฮลดิ้ง จำกัด จำเลย

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

จำเลยเหมาจ่ายค่าน้ำมันรถให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือน เดือนละ 3,000 บาท เพื่อชดเชยกับการที่โจทก์ใช้รถยนต์ส่วนตัวของโจทก์ไปในการทำงานให้แก่จำเลย ค่าน้ำมันรถดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่นายจ้างตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ไม่เป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 20,000 บาท กับค่าน้ำมันรถเหมาจ่ายเดือนละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 23,000 บาท วันที่ 11 กันยายน 2545 จำเลยให้โจทก์เขียนใบลาออกระบุว่าจะไปทำธุรกิจส่วนตัวแล้วจะให้เงินโจทก์ 3 เดือน เป็นเงิน 69,000 บาท แล้วจำเลยไม่จ่ายให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางสอบโจทก์ว่าฟ้องอย่างใด โจทก์แถลงว่าฟ้องโจทก์หมายถึงโจทก์ไม่ได้ลาออกโดยสมัครใจ แต่ถูกจำเลยหลอกลวงให้ลงชื่อลาออกแล้วจะให้เงิน 69,000 บาท ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ขอเรียกค่าชดเชยตามกฎหมายทนายจำเลยจึงแถลงขอถอนข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้อง และขอต่อสู้ว่าโจทก์ลาออกโดยสมัครใจจึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชย

ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน 69,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ค่าน้ำมันรถมิได้เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่จำเลย จึงไม่ใช่ค่าจ้างที่จะนำไปรวมคำนวณเป็นค่าชดเชยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเหมาจ่ายค่าน้ำมันรถให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือน เดือนละ 3,000 บาท เพื่อชดเชยกับการที่โจทก์ใช้รถยนต์ส่วนตัวของโจทก์ไปในการทำงานให้แก่จำเลย ค่าน้ำมันดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ย่อมไม่เป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นค่าจ้างแล้วนำไปรวมกับเงินเดือนเพื่อคำนวณเป็นค่าชดเชยที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพียง 60,000 บาท เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

 

(ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ - ชวลิต ยอดเณร - รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายวิชัย วิสิทธวงศ์

ศาลอุทธรณ์ -

อัพเดทล่าสุด