ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
คดีแดงที่ 5212/2548 | บริษัทสยามชอร์ไซด์เซอร์วิส จำกัด โจทก์ |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 50
ป.พ.พ. มาตรา 1144
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23, 44
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 77, 79, 88
สหภาพแรงงาน ส. ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ จนกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่กิจการของโจทก์เป็นกิจการขนส่งอันเป็นกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 (8) พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจึงส่งข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ต่อมาโจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 23 วรรคสอง ดังนี้ มาตรา 23 วรรคสอง เพียงแต่กำหนดเวลาเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว มิได้ประสงค์จะจำกัดอำนาจของจำเลยที่ 1 หรือให้คำวินิจฉัยสิ้นผลบังคับแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้สหภาพแรงงาน ส. และโจทก์ทราบเกินกำหนด 10 วัน นับแต่วันรับอุทธรณ์ก็ไม่ทำให้อำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หมดไปหรือทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และจำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้โจทก์ขึ้นเงินเดือนประจำปีแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อคนในกรณีที่โจทก์มีผลประกอบการตามงบดุลกำไรมากกว่า 20,000,000 บาทนั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยเพื่อระงับข้อพิพาทแรงงานตามที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างโจทก์กับลูกจ้างตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการแข่งขันกันโดยเสรีและเป็นธรรม และมิใช่เป็นการแทรกแซงการประกอบกิจการของโจทก์ อีกทั้งคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยในข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้าง จึงไม่อาจใช้บังคับแก่สถานประกอบกิจการอื่นที่ไม่มีข้อพิพาทแรงงานได้ คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 44 ที่บัญญัติว่ากรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีหนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องก็ได้ หมายความว่า ถ้ากรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เห็นว่า กรณีมีความจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาและวินิจฉัยก็อาจเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นก็ได้ โดยบทบัญญัติมาตรานี้มิได้บังคับว่าต้องเชิญบุคคลดังกล่าวมาให้ความเห็นเสมอไป ดังนั้น แม้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะไม่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นก็ไม่ขัดต่อ มาตรา 44
การพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้างตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ตามกฎหมายดังกล่าว มิใช่เป็นการเข้าไปร่วมบริหารกิจการของโจทก์ จึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1144
การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานโดยให้โจทก์ปรับเงินเดือนของพนักงานขับรถหัวผ่าที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 6,500 บาท เป็นไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,500 บาท มิใช่เป็นการพิจารณากำหนดและประกาศให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เป็นการวินิจฉัยให้ปรับค่าจ้างตามข้อเรียกร้องของลูกจ้างที่ยื่นต่อโจทก์แล้วกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 78, 79 และ 88
…………………..……………………………………………………………..
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ที่ 10/2545 ลงวันที่ 27 กันยายน 2545 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 1/2545 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2545
จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 8 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจหลายอย่างรวมทั้งประกอบกิจการรับจ้างขนถ่ายและบรรทุกสินค้าเข้าและออกจากตู้บรรทุกสินค้าและขนส่งสินค้าทั่วราชอาณาจักรและต่างประเทศ กิจการของโจทก์เป็นกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 (8) บริษัทโจทก์มีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ คือ เมอร์กส์ เอ/เอส ซึ่งอยู่ในประเทศเดนมาร์กและบริษัทบางกอกมารีน จำกัด ลูกจ้างของโจทก์ได้ร่วมกันจดทะเบียนก่อตั้งสหภาพแรงงานรวม 2 แห่ง ได้แก่ สหภาพแรงงานสยามชอร์ไซด์เซอร์วิส และสหภาพแรงงานสยามชอร์ไซด์ทรานสปอตแห่งประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขณะจำเลยที่ 1 มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 สหภาพแรงงานสยามชอร์ไซด์เซอร์วิส ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง รวม 15 ข้อ ต่อโจทก์ โจทก์และสหภาพแรงงานดังกล่าวต่างแต่งตั้งผู้แทนในการเจรจา แต่ผู้แทนโจทก์และผู้แทนสหภาพแรงงานดังกล่าวมิได้เจรจากัน สหภาพแรงงานสยามชอร์ไซด์เซอร์วิส จึงแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ยแล้ว แต่ไม่อาจตกลงกันได้ ข้อพิพาทแรงงานดังกล่าวจึงเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่กิจการของโจทก์เป็นกิจการขนส่งอันเป็นกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามมาตรา 23 (8) วันที่ 10 กรกฎาคม 2545 พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน จึงส่งข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณาวินิจฉัย วันที่ 17 กรกฎาคม 2545 ประธานกรรมการแรงงานสัมพันธ์ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 47/2545 เพื่อสอบหาข้อเท็จจริงโดยให้เรียกนายจ้าง ลูกจ้าง พร้อมนำพยานเอกสารและพยานบุคคลมาทำการสอบสวนด้วยแล้วเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณา ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2545 คณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ได้สรุปความเห็นเป็นหนังสือเสนอต่อจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 และในวันเดียวกัน จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 มีคำวินิจฉัย ที่ 1/2545 และทำหนังสือแจ้งให้โจทก์และสหภาพแรงงานสยามชอร์ไซด์เซอร์วิสทราบในวันที่ 28 สิงหาคม 2545 ปรากฏว่าโจทก์รับคำวินิจฉัยดังกล่าวในวันที่ 29 สิงหาคม 2545 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2545 โจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 เฉพาะข้อพิพาทแรงงานตามข้อเรียกร้องข้อที่ 4 ข้อที่ 5 ข้อที่ 6 และข้อที่ 9 ต่อจำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัย เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2545 ครั้นวันที่ 27 กันยายน 2545 จำเลยที่ 1 ได้ทำคำวินิจฉัยที่ 10/2545 ว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น จึงให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2545 แจ้งและส่งสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวให้โจทก์ ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวจำเลยที่ 1 วินิจฉัยและแจ้งให้โจทก์ทราบเกินกว่า 10 วัน นับแต่วันที่รับอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และของจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 ยังไม่ถูกต้อง จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งแปดเฉพาะข้อพิพาทแรงงานตามข้อเรียกร้องข้อที่ 4 ข้อที่ 5 และข้อที่ 9
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การที่จำเลยที่ 1 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในกำหนด 10 วัน นับแต่วันได้รับอุทธรณ์นั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 วรรคสอง บัญญัติให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ โดยมิได้บัญญัติว่าหากวินิจฉัยหรือแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบเกินกำหนดแล้วจะมีผลอย่างใดนั้นหมายความว่า กฎหมายเพียงแต่กำหนดเวลาเร่งรัดให้รัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว มิได้ประสงค์จะจำกัดอำนาจของรัฐมนตรีหรือให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์สิ้นผลบังคับแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบเกินกำหนด 10 วัน นับแต่วันรับอุทธรณ์ ก็ไม่ทำให้อำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หมดไปหรือทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสองว่า การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 วินิจฉัยให้โจทก์ขึ้นเงินเดือนประจำปีแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อคน ในกรณีที่โจทก์มีผลประกอบการตามงบดุลกำไรมากกว่า 20,000,000 บาทนั้น เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการแข่งขันกันโดยเสรีและเป็นธรรม อีกทั้งเป็นการแทรกแซงการประกอบกิจการของโจทก์โดยไม่เป็นธรรมเพราะไม่ได้นำไปใช้กับสถานประกอบกิจการอื่น ๆ ที่ประกอบกิจการเช่นเดียวกับโจทก์คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงที่ 8 ดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำวินิจฉัยของจำเลยดังกล่าวเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยเพื่อระงับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างโจทก์กับลูกจ้าง ตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 จึงไม่ถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการโดยเสรีและเป็นธรรม และมิใช่เป็นการแทรกแซงการประกอบกิจการของโจทก์ อีกทั้งคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นการวินิจฉัยในข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้าง จึงไม่อาจใช้บังคับแก่สถานประกอบกิจการอื่นที่ไม่มีข้อพิพาทแรงงานได้ คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงที่ 8 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสามว่า คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งแปดที่ไม่เชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณา เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 44 นั้น เห็นว่า พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 44 บัญญัติว่า กรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีหนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องก็ได้ หมายความว่า ถ้ากรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์เห็นว่ากรณีมีความจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาและวินิจฉัย ก็อาจเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นก็ได้ โดยบทบัญญัติมาตรานี้มิได้บังคับว่าต้องเชิญบุคคลดังกล่าวมาให้ความเห็นเสมอไป ดังนั้น แม้จำเลยทั้งแปดจะไม่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นก็ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 44
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อที่สี่ว่า คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งแปดขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1144 เพราะจำเลยทั้งแปดไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของโจทก์จึงไม่มีอำนาจเข้ามาบริหารกิจการของโจทก์ด้วยการสั่งให้ขึ้นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ เห็นว่า ที่จำเลยทั้งแปดมีคำวินิจฉัยให้โจทก์ขึ้นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างของโจทก์นั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้าง ตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 มิใช่เป็นการเข้าไปร่วมบริหารกิจการของโจทก์ จึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1144
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งแปดวินิจฉัยให้โจทก์ปรับเงินเดือนของพนักงานขับรถหัวผ่าที่ได้รับเงินต่ำกว่าเดือนละ 6,500 บาท เป็นไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,500 บาท เป็นการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งที่จำเลยทั้งแปดมิได้เป็นคณะกรรมการค่าจ้าง จึงขัดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 78 มาตรา 79 และมาตรา 88 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งแปดได้วินิจฉัยให้โจทก์ปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานขับรถหัวผ่า มิใช่เป็นการพิจารณากำหนดและประกาศให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เป็นการวินิจฉัยให้ปรับค่าจ้างตามข้อเรียกร้องของลูกจ้างที่ยื่นต่อโจทก์แล้วกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 78 มาตรา 79 และมาตรา 88 แต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
(รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - ชวลิต ยอดเณร - จรัส พวงมณี )
ศาลแรงงานกลาง - นายวิรัตน์ ลัทธิวงศกร
ศาลอุทธรณ์ -