คู่มือพนักงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคล กับการเลิกจ้าง


851 ผู้ชม


คู่มือพนักงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคล กับการเลิกจ้าง




คดีแดงที่  599/2545

นายอรุณ นาคสวัสดิ์ โจทก์
บริษัทลูเซนท์เทคโนโลยี่ส์ไมโครอีเล็คโทรนิคส์ (ไทย) จำกัด จำเลย

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม, 119 (4)

คู่มือพนักงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคล ซึ่งเป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเป็นหลักจริยธรรมของจำเลยระบุว่า ลูกจ้างต้องไม่ให้ผลประโยชน์ส่วนตัวเข้าแทรกแซงการดำเนินธุรกิจของจำเลย เช่น ห้ามลูกจ้างมีอิทธิพลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อการติดต่อของจำเลยกับผู้จัดจำหน่าย ซึ่งลูกจ้างมีความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือทางการเงินอยู่ด้วย หรือห้ามทำงานให้กับ เป็นตัวแทน หรืออนุเคราะห์ผู้จัดจำหน่ายด้วยเหตุผลส่วนตัวในการติดต่อกับจำเลย เพราะถ้าลูกจ้างมีอิทธิพลหรืออำนาจต่อการติดต่อของจำเลยกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายซึ่งเป็นคู่ค้ากับจำเลยและลูกจ้างมีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวหรือทางการเงินกับบริษัทคู่ค้าย่อมเป็นมูลเหตุจูงใจและช่องทางให้ลูกจ้างใช้อิทธิพลหรืออำนาจหน้าที่ที่ตนมีอยู่ในทางที่อนุเคราะห์หรือให้ผลประโยชน์แก่บริษัทคู่ค้านั้นได้โดยง่ายและยากต่อการตรวจสอบจนอาจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างมาก การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง

โจทก์ทำงานกับจำเลยในตำแหน่งวิศวกรเครื่องกลกับร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้จำเลยและเป็นผู้พิจารณาอะไหล่และอุปกรณ์สำหรับใช้กับเครื่องจักรของจำเลย แม้โจทก์จะไม่ได้เป็นผู้พิจารณาให้บริษัท ส. ได้เป็นคู่ค้ากับจำเลย โดยวิศวกรอีกคนหนึ่งของจำเลยซึ่งถือหุ้นอยู่ในบริษัท ส. ในชื่อของผู้อื่นเป็นผู้พิจารณาก็ตาม แต่ตำแหน่งของโจทก์สามารถมีอิทธิพลต่อการติดต่อและเป็นมูลเหตุจูงใจ กับเป็นช่องทางให้โจทก์กระทำประการใดประการหนึ่งที่สามารถเอื้อประโยชน์หรืออนุเคราะห์ประโยชน์ให้แก่บริษัท ส. ที่โจทก์ร่วมก่อตั้ง เป็นพยานการโอนหุ้น และเข้าประชุมที่บริษัทดังกล่าวแทนภริยาโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นโดยทางอ้อมได้ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้อง จ่ายค่าชดเชย

หนังสือเลิกจ้างระบุรายละเอียดการกระทำของโจทก์แล้วระบุระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ตรงกับ ข้อห้ามที่โจทก์ฝ่าฝืน เป็นการระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม แล้ว

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งวิศวกรเครื่องกลได้ร่วมก่อตั้งบริษัทสามารถพรีซีชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้ากับจำเลย ตามคู่มือพนักงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลอันเป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเป็นหลักจริยธรรมของจำเลย ซึ่งได้ระบุเกี่ยวกับการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนว่าลูกจ้างต้องไม่ให้ผลประโยชน์ส่วนตัวเข้าแทรกแซงการดำเนินธุรกิจของจำเลย เช่น ห้ามลูกจ้างมีอิทธิพลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อการติดต่อของจำเลยกับผู้จัดจำหน่ายซึ่งลูกจ้างมีความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือทางการเงินอยู่ด้วย หรือห้ามทำงานให้กับ เป็นตัวแทน หรืออนุเคราะห์ผู้จัดจำหน่ายด้วยเหตุผลส่วนตัวในการติดต่อกับจำเลย เพราะถ้าลูกจ้างมีอิทธิพลหรืออำนาจต่อการติดต่อของจำเลยกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายซึ่งเป็นคู่ค้ากับจำเลยและลูกจ้างมีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวหรือทางการเงินอยู่กับบริษัทคู่ค้าดังกล่าวย่อมเป็นเหตุจูงใจและช่องทางให้ลูกจ้างใช้อิทธิพลหรืออำนาจหน้าที่ที่ตนมีอยู่ในทางที่อนุเคราะห์หรือให้ผลประโยชน์แก่บริษัทคู่ค้าที่ลูกจ้างมีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวหรือทางการเงินได้โดยง่ายและยากต่อการตรวจสอบจนอาจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างมาก การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง โจทก์ทำงานกับจำเลยในตำแหน่งวิศวกรเครื่องกลกับร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้จำเลย และผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวยังเป็นผู้พิจารณาอะไหล่และอุปกรณ์สำหรับใช้กับเครื่องจักรของจำเลย แม้โจทก์จะไม่ได้เป็น ผู้พิจารณาให้บริษัทสามารถพรีซีชั่นส์ จำกัด ได้เป็นคู่ค้ากับจำเลย แต่ตำแหน่งของโจทก์สามารถมีอิทธิพลต่อการติดต่อและเป็นมูลเหตุจูงใจกับเป็นช่องทางให้โจทก์กระทำประการใดประการหนึ่งที่สามารถเอื้อประโยชน์หรืออนุเคราะห์ประโยชน์ให้แก่บริษัทสามารถพรีซีชั่นส์ จำกัด ที่โจทก์ร่วมก่อตั้ง เป็นพยานการโอนหุ้น และเข้าประชุมที่บริษัทดังกล่าวแทนภริยาโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่งโดยทางอ้อมได้ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

จำเลยได้ระบุการกระทำของโจทก์ไว้ในหนังสือเลิกจ้างแล้ว แม้จะไม่ได้ระบุว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อใด แต่จำเลยก็มีสิทธิให้การโดยยกรายละเอียดการกระทำของโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้าง แล้วระบุข้อของระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ตรงกับข้อห้ามที่โจทก์กระทำการฝ่าฝืนขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ ไม่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม ดังนั้นจำเลยจึงยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวดที่ 1 ข้อ 7, 9 หมวดที่ 7 ข้อ 7.1.3, 7.1.12,11, 12, 18 ได้

พิพากษายืน.

 

(มงคล คุปต์กาญจนากุล - กมล เพียรพิทักษ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )

 

ศาลแรงงานกลาง (ธัญบุรี) - นายบุญทอง ปลื้มวรสวัสดิ์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด