หัวหน้างาน ชักชวนพนักงานหญิงออกไปเที่ยวเตร่ ในเวลาค่ำคืนนอกเวลางาน


798 ผู้ชม


หัวหน้างาน ชักชวนพนักงานหญิงออกไปเที่ยวเตร่ ในเวลาค่ำคืนนอกเวลางาน




คดีแดงที่  1372/2545

นายพลวัฒน์ สุนทรวุฒิไกร โจทก์
บริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 583
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4)

โจทก์อาศัยอำนาจหน้าที่ของโจทก์ชักชวนพนักงานหญิงที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชา ออกไปเที่ยวเตร่กับโจทก์ในเวลาค่ำคืนนอกเวลางาน หากพนักงานหญิงไม่ไป โจทก์จะกลั่นแกล้งเสนอความเห็นไม่ยอมให้พนักงานผู้นั้นผ่านการทดลองงาน หรือการที่โจทก์ชักชวนให้ผู้สมัครงานหญิงไปรับประทานอาหารและฟังเพลงในช่วงเวลาที่จะรับบุคคลดังกล่าวเข้าทำงาน ถือว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อพนักงานหญิงผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้สมัครงานหญิง หาใช่ว่าโจทก์กระทำไปตามวิสัยของชายเจ้าชู้เท่านั้น การกระทำของโจทก์นอกจากจะเป็นการประพฤติผิดศีลธรรมหรือจารีตประเพณีอันดีงามของสังคมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของจำเลย ทำให้พนักงานขาดขวัญและกำลังใจในการทำงานการฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงานของโจทก์จึงเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) และโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรง ย่อมเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงาน (ใบผ่านงาน) ให้โจทก์ด้วย

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง และขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยพยายามล่วงเกินทางเพศต่อลูกจ้างหญิงของจำเลย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ การกระทำของโจทก์เป็นการขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมจารีตประเพณีอันดีงาม ทั้งเป็นการล่วงเกินทางเพศต่อลูกจ้างที่เป็นหญิงตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 16 และทำให้จำเลยได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศและทางทำมาค้าขาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 207,624 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างและวันผิดนัด จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยและโจทก์ข้อแรกพร้อมกันว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยวินัยในการทำงานและการลงโทษว่า พนักงานต้องไม่ประพฤติตนผิดต่อศีลธรรม จารีตประเพณีอันดีงามของสังคม หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ ซึ่งมีตั้งแต่โทษเบาคือการว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาไปจนถึงโทษหนักคือการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามดุลพินิจของจำเลยที่เหมาะสมในการกระทำความผิด โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยในระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการแผนกสินเชื่อและเก็บเงิน โจทก์อาศัยอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้บังคับบัญชาใช้ให้พนักงานหญิงและชายทาบทามพนักงานหญิงผู้ใต้บังคับบัญชาที่โจทก์หมายปองให้ไปดูภาพยนตร์ รับประทานอาหารและฟังเพลงกับโจทก์นอกเวลางานและเวลาค่ำคืนโดยบางครั้งโจทก์เสนอให้ประโยชน์แก่ผู้ที่ติดต่อทาบทาม บางครั้งโจทก์เกี้ยวพาราสีหญิงที่หมายปองเองในการสัมภาษณ์หญิง ผู้สมัครเข้าทำงานกับจำเลย โจทก์สัมภาษณ์ถึงเรื่องครอบครัวและเรื่องส่วนตัวเกินขอบเขต จากนั้นก็ติดต่อชักชวนให้ผู้สมัครงานหญิงไปฟังเพลง รับประทานอาหารกับโจทก์ สำหรับพนักงานหญิงบางคนที่ไม่ยอมไปกับโจทก์ตามที่ถูกชักชวน หรือไม่ติดต่อทาบทามพนักงานหญิงที่โจทก์หมายปองให้ก็ดี โจทก์ก็ไม่ผ่านงานประจำให้ เช่น ไม่ลงชื่ออนุมัติงานล่วงเวลา หรือโจทก์ไม่ยอมให้ผ่านการทดลองงานบ้าง ดังนี้ เห็นว่า แม้โจทก์จะมิใช่เป็นผู้มีสิทธิขาดในการอนุมัติค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเป็นเพียงผู้ใหัความเห็นว่าพนักงานทดลองงานจะผ่านการทดลองงานหรือไม่ก็ตาม แต่พฤติการณ์ของโจทก์ที่อาศัยอำนาจหน้าที่ของโจทก์ชักชวนพนักงานหญิงที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์ออกไปเที่ยวเตร่กับโจทก์ในเวลาค่ำคืนนอกเวลางาน หากพนักงานหญิงผู้นั้นไม่ไป โจทก์จะกลั่นแกล้งเสนอความเห็นไม่ยอมให้พนักงานผู้นั้นผ่านการทดลองงานก็ดี หรือโจทก์ชักชวนให้ผู้สมัครงานหญิงไปรับประทานอาหารและฟังเพลงในช่วงเวลาที่จะรับบุคคลดังกล่าวเข้าทำงานก็ดี เห็นได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อพนักงานหญิงผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้สมัครงานหญิงนั่นเอง หาใช่ว่าโจทก์กระทำไปตามวิสัยของผู้ชายเจ้าชู้เท่านั้น การกระทำของโจทก์นอกจากจะเป็นการประพฤติผิดศีลธรรมหรือจารีตประเพณีอันดีงามของสังคมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้วยังมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของจำเลย โดยทำให้พนักงานภายใต้บังคับบัญชาโจทก์ที่ไม่ยอมกระทำตามความประสงค์โจทก์และถูกโจทก์กลั่นแกล้งย่อมจะขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อความเจริญของกิจการจำเลย การฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงานของโจทก์จึงเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ตามอุธรณ์ของจำเลยต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรงแล้ว ย่อมเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด.

 

(วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - มงคล คุปต์กาญจนกุล - พูนศักดิ์ จงกลนี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายสมพงษ์ เหมวิมล

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด