การระบุ เหตุผลแห่งการเลิกจ้าง ในหนังสือเลิกจ้าง
คดีแดงที่ 8734/2544 | นายจรูญ วารีวนิช โจทก์ |
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม, 119 (4)
หนังสือเลิกจ้างระบุว่าโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 5.1.1, …., 5.1.14 ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรง เป็นการระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างเลิกจ้างโจทก์แล้ว ส่วนพฤติการณ์การกระทำของโจทก์เป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จำเลยจึงยกเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงขึ้นอ้างในคำให้การเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) กรณีไม่ต้องห้ามตามมาตรา 17 วรรคสาม
…………………..……………………………………………………………..
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 209,700 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 64,075 บาท เงินโบนัสพิเศษ 188,850 บาท เงินบำเหน็จ 978,600 บาท และค่าเสียหาย 1,398,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้กระทำผิดระเบียบวินัยของจำเลยกรณีร้ายแรงคือโจทก์อนุมัติเงินช่วยเหลือสวัสดิการสงเคราะห์ของจำเลยแก่นายสามารถ ไขแสงทอง โดยไม่ทำการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงก่อน เป็นเหตุให้นายสามารถนำข้อความอันเป็นเท็จมาขอเงินช่วยเหลือและโจทก์อนุมัติไป โจทก์ใช้อำนาจหน้าที่การบริหารอำนวยสินเชื่อให้แก่ญาติ เพื่อน พี่น้องของตนเองและผู้ใกล้ชิดหลายราย โดยไม่ทำการวิเคราะห์ ผู้ขอสินเชื่อให้ดีก่อน ไม่ไปตรวจสอบหลักประกันที่นำมาจำนอง เป็นการกระทำที่โจทก์ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความเอาใจใส่ โจทก์ทำผิดระเบียบวินัยอย่างร้ายแรงทำให้จำเลยเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสพิเศษ เงินบำเหน็จและค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ได้อนุมัติสินเชื่อโดยฝ่าฝืนต่อระเบียบของจำเลย แต่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณี ร้ายแรง ประการที่ 2 โจทก์ได้ลงชื่อรับรองในหนังสือขออนุมัติให้ความช่วยเหลือพนักงานของจำเลยที่ประสบอุทกภัยเป็นการรับรองข้อมูลโดยที่ทราบอยู่แล้วว่าเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง การกระทำของโจทก์เป็นความผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง คำสั่งของจำเลยที่ลงโทษโจทก์ให้ปลดออกจากงานชอบแล้ว พนักงานจำเลยที่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสหรือเงินช่วยเหลือค่าครองชีพพิเศษจะต้องไม่เป็นผู้ถูกจำเลยลงโทษไม่ว่าสถานใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าหนังสือเลิกจ้างระบุว่าโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 5.1.1, 5.1.3, 5.1.4, 5.1.10, 5.1.14 ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรง เป็นการระบุว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งในข้อดังกล่าว หนังสือเลิกจ้างจึงได้ระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างโจทก์ไว้แล้ว ส่วนพฤติการณ์การกระทำของโจทก์เป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จำเลยจึงยกเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงขึ้นอ้างในคำให้การเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 17 วรรคสาม อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
(ปัญญา สุทธิบดี - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )
ศาลแรงงานกลาง - นายนิรัตน์ จันทพัฒน์
ศาลอุทธรณ์ -