ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร


791 ผู้ชม


ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร




คดีแดงที่  39/2545

นายสุนทร สุวรรณเลิศ โจทก์
บริษัทสุมิโตโมคอนสตรัคชั่น จำกัด กับพวก จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 575
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (5)

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถ โดยบางครั้งทำงานที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร บางครั้งต้องปฏิบัติงานในโครงการก่อสร้างตามคำสั่งของจำเลยในจังหวัดใกล้เคียง ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2543 จำเลยได้ออกคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์ จังหวัดนนทบุรี เมื่อจำเลยสามารถย้ายโจทก์ไปปฏิบัติงานโครงการก่อสร้างจังหวัดใกล้เคียงได้ การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์ จังหวัดนนทบุรี จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ไม่ยอมไปทำงานในวันที่ 3 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2543 แม้โจทก์จะยังคงไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ระหว่างเวลาดังกล่าวทุกวันก็ตาม ก็เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (5)

จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 3 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2543 โดยเลิกจ้างโจทก์นับตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2543 เป็นต้นไปก็ตาม แต่สิทธิในการเลิกจ้างของนายจ้างในกรณีที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรจะเกิดขึ้นเมื่อลูกจ้างได้ละทิ้งหน้าที่ล่วงพ้นในวันที่สามไปแล้ว นายจ้างย่อมไม่อาจจะให้การเลิกจ้างมีผลย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างเริ่มละทิ้งหน้าที่ เมื่อในระหว่างวันที่ 3 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2543 โจทก์ไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยทุกวัน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างเวลาดังกล่าว

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทไทยสุมิคอน จำกัดได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ต่อมาบริษัทไทยสุมิคอน จำกัด ได้โอนโจทก์ไปทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่บริษัทไทยสุมิคอน จำกัด มีอยู่ต่อโจทก์ โจทก์ทำหน้าที่พนักงานขับรถ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 10,880 บาท ต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่มากกว่า 3 วัน ซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์ปฏิบัติงานให้จำเลยที่ 1 ตลอดเวลาดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกล่วงหน้า 10,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างค้าง 2,901 บาท ค่าชดเชย 108,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินสะสม และเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสุมิโตโม ไทยสุมิคอน จำกัด 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การ ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงไม่ติดใจคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินสะสม และ เงินสมบทพร้อมผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสุมิโตโม ไทยสุมิคอน จำนวน 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย คำขอในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงหมดไป เท่ากับโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 คงมีปัญหาให้วินิจฉัยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชย 108,800 บาท ค่าจ้าง 2,901 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 มกราคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งพนักงานขับรถ โดยบางครั้งทำงานที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งตังอยู่ที่กรุงเทพมหานคร บางครั้งต้องปฏิบัติงานในโครงการก่อสร้างตามีคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในจังหวัดใกล้เคียง ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2543 จำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์ จังหวัดนนทบุรี ตามคำสั่ง ซึ่งโจทก์ทราบคำส่งแล้วไม่ยอมไป โดยในระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2543 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2543 โจทก์ไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ทุกวัน จำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เกินกว่าสามวันทำงานติดต่อกันตามหนังสือเลิกจ้าง เห็นว่า โจทก์ทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถในกรุงเทพมหานคร จำเลยสามารถย้ายโจทก์ไปปฏิบัติงานโครงการก่อสร้างจังหวัดใกล้เคียงได้ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์ จังหวัดนนทบุรี คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2543 งานในหน้าที่ของโจทก์ คือเป็นพนักงานขับรถของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์มิใช่หน้าที่พนักงานขับรถของสำนักงานใหญ่ เมื่อโจทก์ไม่ยอมไปทำงานที่โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์ในวันที่ 3 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2543 แม้โจทก์จะยังคงไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ในระหว่างเวลาดังกล่าวทุกวันก็ตาม การกระทำของโจทก์ย่อมเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร จำเลยที่ 1 ย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (5) ที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น

ปัญหาจะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อต่อมาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างวันที่ 3 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2543 หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่มากกว่าสามวันตั้งแต่วันที่ 3 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2543 จึงขอเลิกจ้างโจทก์นับตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2543 เป็นต้นไปก็ตาม แต่สิทธิในการเลิกจ้างของนายจ้างในกรณีที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควรจะเกิดขึ้นเมื่อลูกจ้างได้ละทิ้งหน้าที่ล่วงพ้นในวันทีสามไปแล้ว และนายจ้างย่อมไม่อาจจะให้การเลิกจ้างมีผลย้อนหลังนับแต่วันที่ลูกจ้างเริ่มละทิ้งเริ่มละทิ้งหน้าที่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในระหว่างวันที่ 3 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2543 โจทก์ไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ทุกวัน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างเวลาดังกล่าว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง .

 

(วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - มงคล คุปต์กาญจนากุล - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายสุพจน์ ธำรงเวียงผึ้ง

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด