นายจ้างหยุดกิจการเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง


727 ผู้ชม


นายจ้างหยุดกิจการเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง




คดีแดงที่  1766-1771/2544

นายพันศักดิ์ ไมถึง กับพวก โจทก์
นายศุภเสกข์ ลีลางกูร ในฐานะผู้ชำระบัญชี ของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง, 582, 1250
ป.วิ.พ. มาตรา 86, 104
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5, 17, 118 วรรคสอง
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 54

ศาลแรงงานพิเคราะห์คำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลย อีกทั้งคำแถลงรับของคู่ความแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีได้ จึงสั่งงดสืบพยานและใช้ดุลพินิจรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แน่ชัดเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

การเลิกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง มีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปอันมีผลตลอดไปเป็นการถาวร ประการที่สอง นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง และประการที่สาม สาเหตุเนื่องมาจากสัญญาจ้างสิ้นสุดหรือเหตุอื่นใด

นายจ้างหยุดกิจการเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง แม้นายจ้างจะโอนย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานกับบุคคลภายนอกก็ต้องให้ลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วยจึงต้องถือว่านายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานอันมีผลตลอดไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเนื่องจากนายจ้างหยุดกิจการอันเป็นเหตุอื่นใด จึงเป็นกรณีเลิกจ้าง นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 เมื่อนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า นายจ้างจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 582 ด้วย

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทผู้เป็นนายจ้าง จำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดการใช้หนี้เงินของบริษัทนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

 

…………………..……………………………………………………………..

 

คดีทั้งหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน

โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งหกตามจำนวนในฟ้องของโจทก์แต่ละคน

จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยรับว่าได้มีการประกาศหยุดกิจการบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 และแจ้งให้พนักงานทุกคนโอนย้ายเข้าสังกัดบริษัทบิสซิเนสแวลู จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 โดยให้รายงานตัวต่อฝ่ายบุคคล หากไม่มารายงานตัวภายในกำหนด ถือว่าพนักงานลาออกจากการเป็นพนักงานด้วยความสมัครใจ

โจทก์ทั้งหกแถลงว่า หลังจากที่บริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ปิดกิจการโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไปทำงานต่อกับบริษัทชลนาดร (1999) จำกัด ไม่ทราบประกาศที่ให้โอนย้ายพนักงานทุกคนเข้าสังกัดบริษัทบิสซิเนสแวลู จำกัด มาก่อน เพิ่งทราบภายหลังและไม่ประสงค์จะเข้าทำงานและโจทก์ทั้งหกไม่ได้มาทำงานหลังจากบริษัทปิดกิจการ

ศาลแรงงานกลาง พิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ

จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้พิเคราะห์คำฟ้องโจทก์ซึ่งได้บรรยายถึงวันเข้าทำงาน อัตราค่าจ้างสุดท้าย และกำหนดวันจ่ายค่าจ้าง คำให้การจำเลยซึ่งมิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ทั้งหก อีกทั้งคำแถลงรับของคู่ความแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีได้แล้ว จึงสั่งงดสืบพยานและใช้ดุลพินิจรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ดังนี้ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แน่ชัด เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ปัญหาวินิจฉัยประการที่สองมีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า "การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด …" ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปอันมีผลตลอดไปเป็นการถาวร ประการที่สอง นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง และประการที่สาม สาเหตุเนื่องมาจากสัญญาจ้างสิ้นสุดหรือเหตุอื่นใด คดีนี้บริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งหกหยุดกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกไม่ได้ทำงาน แม้บริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด จะโอนย้ายโจทก์ทั้งหกให้ไปทำงานกับบริษัทบิสซิเนสแวลู จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ก็ต้องให้โจทก์ทั้งหกยินยอมพร้อมใจด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งหกยินยอมพร้อมใจด้วยโดยการไปรายงานตัวต่อฝ่ายบุคคล จึงต้องถือว่าบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ไม่ให้โจทก์ทั้งหกทำงานอันมีผลตลอดไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหกเนื่องจากบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด หยุดกิจการอันเป็นเหตุอื่นใด จึงเป็นกรณี บริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด เลิกจ้างโจทก์ทั้งหก จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหกตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 และเมื่อบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด เลิกจ้างโจทก์ทั้งหกดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ทั้งหกทราบล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 582

โจทก์ทั้งหกฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ผู้เป็นนายจ้าง จำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดการใช้หนี้เงินของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 จึงต้องชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหกในนามของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด โดยจำเลยไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด โดยไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

 

(รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - กมล เพียรพิทักษ์ - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายเกษมสันต์ วิลาวรรณ

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด