จ่ายเงินสมทบทุนเงินทดแทน


797 ผู้ชม


จ่ายเงินสมทบทุนเงินทดแทน




คดีแดงที่  5788/2530

เด็กชายฉัตรชัย ก้องบูลยาพงศ์ กับพวก โจทก์
กรมแรงงาน กับพวก จำเลย

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861, 862
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515
ข้อ 2
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประเภท ขนาดของกิจการ และท้องที่ที่นายจ้าง
จ่ายเงินสมทบทุนเงินทดแทน ฉบับที่ 13
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2 (6)

บริษัท ส. นายจ้างเดิมของ พ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันบริษัทจำเลยที่ 2 นายจ้างคนใหม่ของ พ.ได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลให้แก่ พ.กรมธรรม์ประกันภัยมิได้มีข้อความกำหนดว่าต้องเป็นอุบัติเหตุอัน เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างแต่เพียงประการเดียวแม้ลูกจ้างผู้เอาประกันภัยจะประสบอันตรายโดยมิได้เกิด ขึ้นจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างบริษัทประกันภัยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแม้บริษัท ส.จะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันก็เป็นเพียงการให้สวัสดิการเพื่อบำรุงขวัญและเป็นกำลังใจในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของ พ. เท่านั้นค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ พ.ได้รับจากบริษัทประกันภัยจึงมิใช่เป็นเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของบริษัทจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง

กรณีที่นายจ้างได้เอาประกันการจ่ายเงินทดแทนไว้กับบริษัทประกันภัยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประเภท ขนาดของกิจการและท้องที่ที่ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ฉบับที่ 13 ข้อ 4 นั้น เป็นกรณีที่นายจ้างได้เอาประกันไว้แล้วไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนสำหรับลูกจ้างที่เอาประกันไว้เท่านั้น หาได้กำหนดว่าเงินที่เอาประกันภัยเป็นเงินทดแทนไม่

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า นายไพจิตรลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่จำเลยที่ ๒ โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนายไพจิตรได้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อพนักงานเงินทดแทน พนักงานเงินทดแทนมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๒ จ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองและนางถัดมารดาของผู้ตาย จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ วินิจฉัยต่อโจทก์ทั้งสองได้รับเงินทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว ให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าทดแทนให้แก่นางถัดคนเดียว ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ และบังคับให้จำเลยที่ ๒ จ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๒ ได้เอาประกันชีวิตและอุบัติเหตุแก่ลูกจ้างรวมทั้งนายไพจิตรโดยเอาประกันในนามของบริษัทสุราทิพย์เขตสุราษฎร์ธานี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ในการกำหนดวงเงินประกันจำเลยที่ ๒ ได้พิจารณาจากสิทธิและจำนวนเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิจะได้รับเมื่อประสบอันตรายถึงแก่ชีวิตร่างกาย โจทก์ทั้งสองได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้อีก

ศาลแรงงานกลางพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมแรงงานที่ ๑๗/๒๕๓๐ เฉพาะที่เกี่ยวกับโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ ๒ จ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓ ข้อ ๒ (๖) และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๒ ที่ให้คำนิยามคำว่า "ประสบอันตราย" "ค่าทดแทน" "เงินทดแทน" นั้นแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐที่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างว่าจะต้องได้รับเงินทดแทนในเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง อันเป็นสิ่งสนับสนุนให้ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างด้วยความมั่นใจในความเป็นอยู่ของตนและครอบครัวมิให้ได้รับความเดือดร้อนทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องรับผิดตามข้อกำหนดดังกล่าวอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ข้อกำหนดนี้จึงเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนกรณีที่ได้มีการทำสัญญาประกันชีวิตลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ไว้โดยรวมถึงนายไพจิตต์ด้วยกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลเลขที พี.เอ. ๑๗๕๗/๘๖ ที่มีชื่อบริษัทสุราทิพย์เขตสุราษฎร์ธานี จำกัด เป็นผู้เอาประกันภัยไว้ (เอกสารลำดับที่ ๕๗ และ ๕๘ ในสำนวนการสอบสวนของกองคุ้มครองแรงงาน กรมแรงงาน)แต่ตามเอกสารลำดับที่ ๕๗ ได้ระบุผู้เอาประกันภัยที่แท้จริงคือนายไพจิตต์ก้องบูลยาพงศ์ ดังนี้ นายไพจิตต์จึงเป็นผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๒๐ หมวด ๓ ซึ่งมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในบทกฎหมายดังกล่าวโดยเฉพาะ นอกจากนั้นตามกรมธรรม์ฉบับนี้ก็เป็นเรื่องของการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล โดยมิได้มีข้อความกำหนดว่าต้องเป็นอุบัติเหตุอันเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างแต่เพียงประการเดียว แม้ลูกจ้างผู้เอาประกันจะประสบอันตรายโดยมิได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหรือการป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างก็ตาม บริษัททิพยประกันภัย จำกัด ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาด้วย การที่นายไพจิตต์มิได้เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันด้วยตนเองโดยบริษัทสุราทิพย์เขตสุราษฎร์ธานี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกับจำเลยที่ ๒ และเป็นนายจ้างเดิมของนายไพจิตต์เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันก็เป็นเพียงการให้สวัสดิการเพื่อบำรุงขวัญและเป็นกำลังใจในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของนายไพจิตต์เท่านั้น ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากบริษัททิพยประกันภัยจำกัด จึงมิใช่เป็นเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว ส่วนที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประเภท ขนาดของกิจการและท้องที่ที่ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ฉบับที่ ๖ (ที่ถูกเป็นฉบับที่ ๑๓) ข้อ ๔ ว่า การที่นายจ้างได้จัดเอาเงินประกันการจ่ายเงินทดแทนแสดงว่า ได้มีการยอมรับว่าเงินทดแทนตามสัญญาประกันภัยเป็นประเภทเดียวกับเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงาน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับดังกล่าวได้มีความในข้อ ๔ ว่า

"นายจ้างซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ถ้าได้เอาประกันการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างทั้งหมดหรือบางส่วนไว้กับบริษัทประกันภัยที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นในวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ และได้ส่งมอบสำเนาสัญญาประกันเงินทดแทนต่อสำนักงานแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบการนั้นตั้งอยู่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนสำหรับลูกจ้างที่เป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันจนกว่าจะสิ้นสุดเวลาตามสัญญาประกันเงินทดแทน แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ" ข้อกำหนดดังกล่าวนี้เป็นบทบังคับในกรณีที่นายจ้างได้เอาประกันการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างไว้แล้ว ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนสำหรับลูกจ้างที่เอาประกันภัยไว้เท่านั้น กรณีหาได้กำหนดว่าเงินที่เอาประกันภัยเป็นเงินทดแทนไปไม่

 

(มาโนช เพียรสนอง - จุนท์ จันทรวงศ์ - สีนวล คงลาภ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายศุภชัย ภู่งาม

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด