ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีก่อนยื่นใบลาออก


657 ผู้ชม


ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีก่อนยื่นใบลาออก




คดีแดงที่  8324/2544

บริษัท อีทีเอ (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์
นางจำลอง ศรแก้ว จำเลย

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 30, 56, 67, 119
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า จ. ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีก่อนยื่นใบลาออก ขณะยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปี จ. อาจจะยังไม่คิดลาออกก็ได้จึงเป็นการใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีโดยสุจริต จำเลยอุทธรณ์ว่า ในขณะยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปี จ. ประสงค์จะลาออก จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างมิได้มีความผิดตามมาตรา 119 การที่กฎหมายกำหนดให้นำความผิดตามบทบัญญัติในมาตรา119 มาประกอบการพิจารณาการได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างเพราะความผิดดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่จะชี้ว่านายจ้างเลิกจ้างด้วยเจตนากลั่นแกล้งไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปจนครบ 1 ปีหรือไม่ ถ้าลูกจ้างไม่มีความผิดตามมาตรา 119แต่ถูกเลิกจ้าง ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างไม่อาจทำงานต่อไปได้และต้องเสียสิทธิที่จะได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 30 ดังนั้น ในปีที่เลิกจ้างแม้ลูกจ้างจะทำงานยังไม่ครบ 1 ปี นายจ้างจะต้องชดใช้สิทธิที่ลูกจ้างต้องเสียไปจากการกระทำโดยไม่ชอบของนายจ้างด้วยการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ

การจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 หาได้นำมาใช้บังคับแก่กรณีลูกจ้างลาออกจากงานโดยความสมัครใจด้วยไม่ เพราะการลาออกโดยความสมัครใจของลูกจ้างย่อมไม่เป็นการกลั่นแกล้งของนายจ้าง

ลูกจ้างที่ลาออกจะมีสิทธิพักผ่อนประจำปีที่เลิกจ้างรวมทั้งในปีก่อนและจะได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ เพียงใด ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ในปีที่ลูกจ้างลาออก นายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง 13 วัน และก่อนลาออก นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างลาหยุดพักผ่อนประจำปี 8 วันการหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวเป็นการหยุดตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันโดยสุจริตจึงเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีโดยชอบของลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิและตามวันที่ได้ตกลงกับโจทก์ไปแล้วก่อนลาออก โจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเต็มจำนวน 8 วัน ให้แก่ลูกจ้าง

 

…………………..……………………………………………………………..

 

 

(มงคล คุปต์กาญจนากุล - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายชาตรี ศิริรักษ์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด