นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุสุดวิสัย


853 ผู้ชม


นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุสุดวิสัย




คดีแดงที่  2190-2193/2545

นายปรีชา บุญเรืองศรี ที่ 1 กับพวก โจทก์
บริษัทเอ็นริชเมนท์ แอสโซซิเอท ที่ 1 กับพวก จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 583
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118, 119

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 118, 119 มิได้มีข้อยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุสุดวิสัย และ ป.พ.พ. มาตรา 583 ก็มิได้บัญญัติยกเว้นไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในกรณีเลิกจ้างเพราะเหตุสุดวิสัยเช่นเดียวกัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ตามลำดับ

จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ทั้งสี่ทำงานชั่วคราว สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนและเป็นงานที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสี่เป็นครั้งคราวตามโครงการที่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานที่แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และไม่ได้เป็นงานประจำของจำเลย หลังทำสัญญาจำเลยได้นำโจทก์ทั้งสี่และพนักงานอื่นเข้าทำงานในโครงการดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 จำเลยได้พาโจทก์ทั้งสี่และพนักงานคนอื่นเข้าทำงานตามปกติแต่ไม่สามารถเข้าทำงานได้ เนื่องจากบริษัทกรีไทย จำกัด ผู้ว่าจ้างจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 การที่จำเลยไม่สามารถจ้างโจทก์ทั้งสี่ให้ทำงานในโครงการดังกล่าวถือเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ใช่ความผิดของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์ทั้งสี่

จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ว… คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากบริษัทกรีไทย จำกัด ถูกศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถพาโจทก์ทั้งสี่เข้าทำงานในโครงการออลซีซั่นส์ เพลส ได้นั้น เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวและมาตรา 119 มิได้มีข้อยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากเหตุสุดวิสัยและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ซึ่งบัญญัติข้อยกเว้นกรณีไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไว้ ก็มิได้มีข้อยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในกรณีเลิกจ้างเพราะเหตุสุดวิสัยเช่นเดียวกัน ดังนั้น การวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเรื่องการจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย…

พิพากษายืน.

 

(รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - มงคล คุปต์กาญจนากุล - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายสาโรจน์ เกษมถาวรศิลป์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด