นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง !!!
คดีแดงที่ 1053/2546 | ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง |
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118, 119
พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 12
การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างของผู้คัดค้าน มอบเงินให้ อ. ไปล่อซื้อสลากกินรวบจากผู้คัดค้าน เป็นเพียงวิธีการแสวงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดของผู้คัดค้าน มิใช่การป้ายสียัดเยียดความผิดให้ผู้คัดค้าน เพราะหาก ผู้คัดค้านมิได้เป็นผู้เดินโพยฝ่ายเจ้ามือเมื่อ อ. ไปขอซื้อสลากกินรวบจากผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ต้องปฏิเสธไม่ขาย สลากกินรวบให้ ความผิดย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ วิธีการล่อซื้อดังกล่าวมิได้ฝ่าฝืนกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้เงินที่ใช้ซื้อสลากกินรวบจะเป็นเงินที่ใช้ล่อซื้อ เมื่อผู้คัดค้านรับเงินดังกล่าวไว้ในการขายสลากกินรวบ การกระทำของผู้คัดค้านก็เป็นความผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบแล้ว
ผู้เดินโพยสลากกินรวบคือตัวแทนของเจ้ามือรับกินรับใช้ในการขายสลากกินรวบให้แก่ผู้ซื้อสลากกินรวบ ผู้เดินโพยจะได้ค่าตอบแทนจากการขายสลากกินรวบ ผู้เดินโพยจึงมีความผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบ และความผิดดังกล่าวมีบทลงโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 12 การกระทำของผู้คัดค้านจึงฟังได้ว่าเป็นความผิดทางอาญาโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาก่อน
ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างแล้วนายจ้างจึงจะเลิกจ้างได้ เมื่อผู้ร้อง(นายจ้าง)ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางให้เลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกจ้างและกรรมการลูกจ้างได้ ก็ต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกครั้งหนึ่ง การที่ผู้ร้องจะจ่ายหรือไม่จ่ายค่าชดเชยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ร้องมีคำสั่งเลิกจ้างแล้ว ไม่สมควรจะมีคำสั่งเรื่องค่าชดเชยไว้ล่วงหน้าโดยยังไม่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น
…………………..……………………………………………………………..
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและให้ถือคำร้องนี้ เป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า ให้การเลิกจ้างมีผลเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาต และผ่านงวดการจ่ายค่าจ้างไปแล้ว ไม่น้อยกว่าหนึ่งงวด
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างลักษณะเป็นกรณีร้ายแรง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากผู้ร้องได้ร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจและ อ. สร้างสถานการณ์นำโพยสลากกินรวบและเงินมาให้ผู้คัดค้านไว้ แล้วบอกให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านพร้อมโพยสลากกินรวบและเงิน ทั้ง ๆ ที่ผู้คัดค้านไม่ได้กระทำผิด การกระทำของผู้ร้องจงใจให้ผู้คัดค้านทำผิดกฎหมายอาญา เพื่อเป็นเหตุให้ผู้ร้องไล่ผู้คัดค้านออกจากการเป็นพนักงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษา(ที่ถูกเป็นคำสั่ง) อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้โดยไม่ต้องจ่ายค่า ชดเชยให้แก่ผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านได้กระทำความผิดทางอาญาโดยเล่นการพนัน สลากกินรวบหรือไม่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องเป็นผู้วางแผนล่อซื้อสลากกินรวบจากผู้คัดค้านโดยมอบเงินให้แก่ อ. ไปซื้อสลากกินรวบจากผู้คัดค้าน เมื่อ อ. มิได้ซื้อสลากกินรวบด้วยเงินของ อ. เอง แต่ซื้อจากเงินของผู้ร้องที่ใช้ล่อซื้อ จึงถือไม่ได้ว่า ผู้คัดค้านเล่นการพนันสลากกินรวบนั้น เห็นว่า การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างของผู้คัดค้านมอบเงินให้แก่ผู้อื่นไปล่อซื้อสลากกินรวบจากผู้คัดค้านนั้นเป็นเพียงวิธีการแสวงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้คัดค้านเท่านั้น มิใช่เป็นการป้ายสีหรือยัดเยียดความผิดให้แก่ผู้คัดค้านเพราะหากผู้คัดค้านมิได้เป็นผู้เดินโพย ฝ่ายเจ้ามือ เมื่อ อ. ไปขอซื้อสลากกินรวบจากผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ต้องปฏิเสธไม่ขายสลากกินรวบให้ ความผิดก็ย่อม ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ วิธีการล่อซื้อดังกล่าวมิได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ฉะนั้น แม้เงินที่ใช้ซื้อสลากกินรวบจะเป็นเงินที่ใช้ในการล่อซื้อก็ตาม เมื่อผู้คัดค้านรับเงิน ดังกล่าวไว้ในการขายสลากกินรวบ การกระทำของผู้คัดค้านก็เป็นความผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบแล้วที่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในข้อต่อมาว่า ผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้เดินโพยไม่ใช่เจ้ามือรับกินรับใช้ ซึ่งผู้เดินโพยมีแต่ได้ค่าตอบแทนจากการเดินโพยไม่ต้องรับผิดอย่างเช่นเจ้ามือ จึงถือไม่ได้ว่าผู้เดินโพยเป็นผู้เล่นการพนันและการกระทำของผู้คัดค้านยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้คัดค้านได้กระทำความผิดทางอาญานั้น เห็นว่า ผู้เดินโพยสลากกินรวบก็คือ ตัวแทนของเจ้ามือรับกินรับใช้ในการขายสลากกินรวบให้แก่ผู้ซื้อสลากกินรวบนั่นเอง โดยผู้เดินโพยจะได้ค่าตอบแทนจากการขายสลากกินรวบดังกล่าว ดังนี้ ผู้เดินโพยจึงมีความผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบ และความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่มีบทลงโทษทางอาญา คือโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 12 ฉะนั้น การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงฟังได้ว่าเป็นความผิดทางอาญาแล้วโดยไม่จำต้องมี คำพิพากษาของศาลในคดีอาญาแต่อย่างใด แต่ที่ผู้ร้องมีคำขอให้เลิกจ้างผู้คัดค้านโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้คัดค้านนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเสียก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างแล้วนายจ้างจึงจะเลิกจ้างได้ ดังนั้นเมื่อผู้ร้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางให้เลิกจ้างผู้คัดค้านได้แล้ว ก็ต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกครั้งหนึ่ง การที่ผู้ร้อง จะจ่ายหรือไม่จ่ายค่าชดเชยนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ร้องมีคำสั่งเลิกจ้างแล้ว ไม่ควรที่จะพึงมีคำสั่งไว้ล่วงหน้าโดยยังไม่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น จึงชอบที่จะยกคำขอของผู้ร้องข้อนี้เสีย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของผู้ร้องในข้อที่ว่าผู้ร้องไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้ เป็นไปตามคำพิพากษา (ที่ถูกเป็นคำสั่ง) ศาลแรงงานกลาง.
(ปัญญา สุทธิบดี - พันธาวุธ ปาณิกบุตร - จรัส พวงมณี )
ศาลแรงงานกลาง - นายชวลิต ธรรมฤาชุ
ศาลอุทธรณ์ -