หนังสือเลิกจ้าง มิได้ระบุสาเหตุไว้โดยตรงว่าละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงาน ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร


981 ผู้ชม


หนังสือเลิกจ้าง มิได้ระบุสาเหตุไว้โดยตรงว่าละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงาน ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร




คดีแดงที่  5022/2530

นางลินดา อี. วิลเลีย เออร์ส ฯ โจทก์
บริษัทมีเดีย ทรานส์เอเซีย ไทยแลนด์ จำกัด กับพวก จำเลย

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3)

แม้หนังสือเลิกจ้างโจทก์จะมิได้ระบุสาเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้โดยตรงว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงาน ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความในหนังสือทั้งหมดที่มีใจความว่า ว. กรรมการบริษัทจำเลยนายจ้างขอให้โจทก์ไปพบเกี่ยวกับงานของโจทก์ในวันที่ 15 ตุลาคม 2529 โจทก์ไม่ติดต่อกับ ว.และไม่ได้ไปที่สำนักงานหลีกเลี่ยงไม่เข้ารับหน้าที่และไม่มีการติดต่อจากโจทก์อีกจนถึงวันที่ 21 ตุลาคม และหลังจากนั้นบริษัทจำเลยจึง เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2529 ดังนี้ย่อมสามารถเข้าใจได้แล้วว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุใด อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าหนังสือเลิกจ้างดังกล่าวจะถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ได้จึงฟังไม่ขึ้น

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย อันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าเสียหายที่เสื่อมเสียชื่อเสียงของโจทก์ ค่าจ้างค้างชำระ ๑ เดือน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปและที่โจทก์จะต้องเสียจนถึงสิ้นสุดระยะเวลาการจ้าง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน ค่าโดยสารเครื่องบินระหว่างกรุงเทพมหานครไปกรุงแคนเบอร์รากับให้จำเลยออกใบสำคัญการจ้างให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มิได้ปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังขาดงานเป็นเวลา ๑๒ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๙ ถึงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๙ โดยมิได้แจ้งเหตุให้จำเลยทราบ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๙ โดยจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆ แก่โจทก์และมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทำงานมาไม่ครบ ๑๒ เดือน ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยไม่เคยตกลงจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการเดินทางนั้นจำเลยจ่ายให้โจทก์ไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าโดยสารเครื่องบินเพราะถูกเลิกจ้างก่อนครบระยะเวลาการจ้าง ในการที่โจทก์ไปต่างประเทศนั้นจำเลยได้ออกเงินทดรองจ่ายให้โจทก์ ๗,๘๔๕ บาท ค่าเครื่องบิน ค่าโรงแรม รวมทั้งสิ้น ๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยตามคำสั่งและมิได้หักเงินทดรองจ่ายจึงฟ้องแย้งขอให้ศาลบังคับโจทก์ชำระเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยที่ ๑

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้ถ่ายรูปและเขียนบทความให้จำเลยตามคำสั่งแล้ว แต่จำเลยไม่ต้องการงานของโจทก์ ระหว่างที่โจทก์ป่วยนางวีณากรรมการของจำเลยแจ้งโจทก์ว่ายังไม่ต้องไปทำงานจนกว่าจะหาย ต่อมาวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๙ โจทก์ได้รับหนังสือเลิกจ้าง เงินที่โจทก์เบิกทดรองไปโจทก์ใช้จ่ายไปในการปฏิบัติหน้าที่และยังไม่ได้คืนเพียง ๙๒.๑๘ เหรียญสหรัฐ ส่วนค่าเครื่องบินและค่าโรงแรมนั้นจำเลยไม่ได้จ่ายให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การหยุดงานของโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ถึงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๙ เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร การเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและจำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยต้องชำระค่าจางค้างจ่ายแก่โจทก์ ๕,๕๗๐ บาท โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ สำหรับฟ้องแย้งโจทก์ต้องคืนเงินทดรองจ่ายแก่จำเลยเป็นเงิน ๒,๔๑๑.๐๓ บาท เมื่อหักจากเงินที่จำเลยต้องจ่ายแก่โจทก์แล้ว โจทก์คงมีสิทธิได้รับ ๓,๑๕๘.๙๗ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดและจำเลยที่ ๒ จะต้องร่วมรับผิดด้วยแต่ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๓,๑๕๘.๙๗ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ให้จำเลยทั้งสองออกใบสำคัญการจ้างแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าตามหนังสือเลิกจ้าง จำเลยที่ ๑ มิได้ระบุสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จะถือว่าจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างเพราะโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันติดต่อกันไม่ได้ พิเคราะห์แล้ว ตามหนังสือเลิกจ้างแม้ไม่ได้ระบุสาเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้โดยตรงว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ข้อความทั้งหมดประกอบกันก็สามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุใดดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า "อ้างถึงการสนทนาของคุณเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ซึ่งนางวีณาได้ขอให้คุณไปพบเธอเกี่ยวกับงานของคุณซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๙ คุณเจตนาที่จะไม่ติดต่อกับนางวีณา และไม่ได้ไปที่สำนักงานด้วย คุณพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้มีการเข้ารับหน้าที่ และการมอบหมายงานอย่างราบรื่นด้วยวิธีนี้

นอกจากนั้นไม่มีการติดต่อจากคุณอีกเลยจนกระทั่งถึงวันที่ ๒๑ ตุลาคมซึ่งเราส่งพนักงานรับส่งเอกสารของเราไปรวบรวมทรัพย์สินต่าง ๆ ของบริษัทที่คุณนำไปจากสำนักงาน ต้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมาคุณไม่ได้พยายามที่จะโทรศัพท์ถึงเราหรือติดต่อกับเราเลย แม้ว่าที่จริงแล้วนางวีณาบอกให้คุณทำเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลา ฯลฯ

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ณ ที่นี้ผมขอบอกเลิกการทำงานของคุณจากบริษัทนี้โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๙"

หนังสือเลิกจ้าง ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๙ จากหนังสือฉบับนี้จึงได้ความว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานนับแต่วันใดถึงวันใด มีเหตุประการใดหรือไม่ และจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุใด ทั้งนี้ โดยศาลฎีกามิพักต้องอธิบายประการใดอีกอุทธรณ์โจทก์ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ในอุทธรณ์ข้อนี้โจทก์ยกคำเบิกความของนางวีณาอูเบรอย ขึ้นอ้างอิงและชี้ให้ศาลเห็นว่าคำเบิกความของนางวีณา อูเบรอยหมายความว่ากระไร ข้อนี้ เห็นว่า เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๕ วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

โจทก์อุทธรณ์ข้อ ๓ ก. ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ยังค้างชำระค่าจ้างเดือนตุลาคม ๒๕๒๙ แก่โจทก์ ๓๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ความข้อนี้แต่ประการใด ชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์ พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้ไว้ในคำฟ้องข้อ ๔.๓ จำเลยให้การต่อสู้เรื่อง ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ฯลฯ หาได้ต่อสู้เรื่องค่าจ้างค้างจ่ายสำหรับเดือนตุลาคม ๒๕๒๙ จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท แต่ประการใดไม่ คำให้การของจำเลยจึงไม่เป็นการปฏิเสธ ตามกระบวนความต้องถือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่าค้างชำระค่าจ้างจำนวนนี้จริง คำฟ้องเรียกร้องเงินจำนวนนี้หาเป็นประเด็นข้อพิพาทไม่ โจทก์ไม่จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าจ้างส่วนนี้ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ ๓ ก. ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าจ้างค้างจ่ายสำหรับเดือนตุลาคม ๒๕๒๙ จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

 

(จุนท์ จันทรวงศ์ - มาโนช เพียรสนอง - สีนวล คงลาภ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายเสงี่ยม คชาธาร

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด