ลูกจ้าง ลาป่วยและมาทำงานสายเป็นจำนวนมาก ต้องจ่ายค่าชดเชย ??
คดีแดงที่ 7560/2544 | นางสุภาภรณ์ เผ่าโนรี โจทก์ |
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม, 119
แม้ในระหว่างการทำงานโจทก์ลาป่วยและมาทำงานสายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งโจทก์มิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าด้วยการลา ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ตักเตือนโจทก์ในเรื่องดังกล่าวด้วยวาจาและเป็นหนังสือ จำเลยได้ลงโทษโจทก์ด้วยการภาคทัณฑ์และตัดเงินเดือนหลายครั้งซึ่งจำเลยอาจอ้างความผิดดังกล่าวของโจทก์มาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ก็ตาม แต่หนังสือเลิกจ้างของจำเลยเพียงแต่อ้างเหตุที่ให้โจทก์ออกจากงานว่าการกระทำของโจทก์เข้าลักษณะเป็นผู้หย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่การงานของตนประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และบกพร่องในหน้าที่เท่านั้น จำเลยมิได้อ้างเหตุความผิดดังกล่าวของโจทก์มาเป็นเหตุโดยตรงในการเลิกจ้าง จึงต้องถือว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะเลิกจ้างโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าว นอกจากนี้ตามข้อบังคับของจำเลยข้อ 34 ซึ่งเป็นอำนาจของจำเลยในการเลิกจ้างโจทก์ ก็ระบุว่าพนักงานที่ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตามข้อ 34 ให้ถือว่าเป็นการออกจากตำแหน่งหน้าที่โดยมิได้กระทำความผิด มีสิทธิได้รับบำเหน็จอีกด้วย จำเลยจึงหยิบยกอ้างความผิดของโจทก์ซึ่งมิได้ระบุเป็นเหตุเลิกจ้างไว้ในหนังสือให้โจทก์ออกจากงานมาเป็นเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หาได้ไม่
…………………..……………………………………………………………..
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าสินค้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,582.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจ่ายค่าชดเชย 107,939.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงาน (วันที่ 10 พฤษภาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายค่าเสียหาย 431,760 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยชอบธรรมแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยไม่ต้องรับผิดให้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือหากต้องจ่ายก็จ่ายเพียง 1 เดือน เป็นเงิน 17,990 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 107,940 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,582.99 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยของเงินทั้งสองประเภทในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยดอกเบี้ยของค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 10 พฤษภาคม 2542) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 ตุลาคม 2542) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า… คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าในระหว่างการทำงานตั้งแต่ปี 2537 ถึงปี 2542 โจทก์ล่าป่วยและมาทำงานสายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งโจทก์มิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าด้วยการลา ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ตักเตือนโจทก์ในเรื่องดังกล่าวด้วยวาจาและเป็นหนังสือ จำเลยได้ลงโทษโจทก์ด้วยการภาคภัณฑ์และตัดเงินเดือนหลายครั้งซึ่งจำเลยอาจอ้างความผิดดังกล่าวของโจทก์มาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ก็ตาม แต่หนังสือให้พนักงานออกจากงาน (เลิกจ้าง) ของจำเลย จำเลยเพียงแต่อ้างเหตุที่ให้โจทก์ออกจากงานว่าการกระทำของโจทก์เข้าลักษณะเป็นผู้หย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่การงานของตน ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และบกพร่องในหน้าที่เท่านั้น จำเลยมิได้อ้างเหตุความผิดดังกล่าวของโจทก์มาเป็นเหตุโดยตรงในการเลิกจ้างแต่อย่างใด จึงต้องถือว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะเลิกจ้างโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยอ้างข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 3 หมวดที่ 5 ว่าด้วยการถอดถอน ข้อ 34 เป็นอำนาจของจำเลยในการเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวข้อ 37 ก็ระบุว่าพนักงานที่ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตามข้อ 34 ให้ถือว่าเป็นการออกจากตำแหน่งหน้าที่โดยมิได้กระทำความผิด มีสิทธิได้รับบำเหน็จอีกด้วย จำเลยจึงหยิบยกอ้างความผิดของโจทก์ซึ่งมิได้ระบุเป็นเหตุเลิกจ้างไว้ในหนังสือให้โจทก์ออกจากงานมาเป็นเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หาได้ไม่ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในประเด็นนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
(ปัญญา สุทธิบดี - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )
ศาลแรงงานกลาง - นายชวลิต พรายภู่
ศาลอุทธรณ์ -