ค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จ


831 ผู้ชม


ค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จ




คดีแดงที่  6977-6981/2544

นางยุพิน เจริญเฟื่องฟู โจทก์
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับพวก จำเลย

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5, 18, 19, 24

ตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 124/2501 กำหนดให้บริษัทสุรามหาราษฎร จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 3 จ่ายเงินชดเชยและเงินบำเหน็จตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งให้แก่พนักงาน และจำเลยที่ 3 จ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีตามคำสั่งดังกล่าวให้โจทก์รับไปแล้ว โจทก์ก็ยอมรับว่าเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีที่ได้รับเป็นเงินบำเหน็จตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 เงินบำเหน็จตัดตอนรายปี ที่จำเลยที่ 3 จ่ายให้โจทก์จึงเป็นการจ่ายและรับตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม หาใช่โจทก์รับโดยอาศัยสิทธิตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ เพราะบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว กำหนดเพียงวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 ว่าให้จ่ายตัดตอนเป็นรายปีได้เท่านั้น

ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพจ้างที่จำเลยที่ 3 ตกลงให้ผลประโยชน์อื่น ๆ ที่บริษัทสุรามหาคุณ จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับสหภาพแรงงานเป็นทางการและเคยถือปฏิบัติมาก่อนแก่พนักงาน และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้บริษัทสุรามหาคุณ จำกัด จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง โดยวินิจฉัยว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้างเมื่อนำไปรวมกับค่าจ้างเป็นการให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างดีขึ้น จึงต้องนำไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคิดค่าชดเชย และค่าชดเชยดังกล่าวที่ได้รับก็เป็นค่าชดเชยตามจำนวนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย แต่กรณีที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับค่าครองชีพอันถือว่าเป็นผลประโยชน์ที่เคยได้รับหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่ามีผลประโยชน์ดังกล่าวที่โจทก์จะพึงได้รับ ส่วนค่าชดเชยซึ่งเป็นผลประโยชน์อีกประการหนึ่งที่โจทก์จะพึงได้รับและจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องจ่ายก็มีเฉพาะค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 124/2501 และตามกฎหมายเช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 3 ได้จ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 124/2501 และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้โจทก์ทั้งห้ารับไปแล้ว และคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดว่า ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วย แรงงาน และเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชย ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว ซึ่งแสดงว่าประสงค์ให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงิน ชดเชยหรือค่าชดเชยให้โจทก์ครบถ้วนตามกฎหมายแรงงาน คือ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฎหมายแรงงานที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเลิกจ้าง และถ้าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จด้วย และเงินบำเหน็จมากกว่าค่าชดเชยก็ถือว่าได้จ่ายค่าชดเชยครบถ้วนตามกฎหมายรวมไปกับเงินบำเหน็จแล้ว จำเลยที่ 3 จ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีให้โจทก์รับไปแล้ว และเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีดังกล่าวมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับ ถือว่าจำเลยที่ 3 จ่ายค่าชดเชยรวมไปกับเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยอีก

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จำเลยที่ 1 ที่สั่งว่าโจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 3 จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้า

จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ที่โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งห้าไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 3 ประเภทที่รับโอนมาจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงนำคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 124/2501 มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งห้าไม่ได้และโจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีตามคำสั่งดังกล่าว แต่รับตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง พ.ศ. 2524 เงินบำเหน็จตัดตอนรายปีจึงไม่ใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งห้ายอมรับว่า มีการนำคำสั่งและระเบียบดังที่ระบุไว้ในข้อ 54 ของสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ฉบับ พ.ศ. 2523 ถึง 2537 ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับบริษัทสุรามหาชน จำกัด มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งห้าด้วย และคำสั่งที่ระบุไว้ในข้อ 54 (1) คือ คำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 124/2501 ลงวันที่ 22 กันยายน 2501 จึงต้องนำคำสั่งดังกล่าวมาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งห้า ซึ่งตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 124/2501 ข้อ 23 และข้อ 28 กำหนดให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงินชดเชยและเงินบำเหน็จตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งให้แก่พนักงาน และจำเลยที่ 3 จ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวให้โจทก์ทั้งห้ารับไปแล้วตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2524 ข้อ 3 (3.1) ทั้งโจทก์ทั้งห้าก็ยอมรับตามที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงการรับเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีของโจทก์แต่ละคนว่า เงินบำเหน็จตัดตอนรายปีที่ได้รับเป็นเงินบำเหน็จตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 เงินบำเหน็จตัดตอนรายปีที่จำเลยที่ 3 จ่ายให้โจทก์ทั้งห้าจึงเป็นการจ่ายและรับตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าว หาใช่โจทก์ทั้งห้ารับโดยอาศัยเฉพาะสิทธิตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2524 ดังโจทก์ทั้งห้าอ้างไม่ เพราะบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวมิได้กำหนดถึงสิทธิการได้รับเงินบำเหน็จของโจทก์ทั้งห้า แต่กำหนดเพียงวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จที่โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 ว่าให้จ่ายตัดตอนเป็นรายปีได้เท่านั้น และที่โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2523 จำเลยที่ 3 ตกลงให้ผลประโยชน์อื่น ๆ ที่บริษัทสุรามหาคุณ จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับสหภาพแรงงานเป็นทางการและเคยถือปฏิบัติมาก่อนพนักงาน และศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 639 - 644/2524 ให้บริษัทสุรามหาคุณ จำกัด เงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่ เงินชดเชยอย่างเดียว ซึ่งคำสั่งดังกล่าวแสดงว่าประสงค์ให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงินชดเชยหรือค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งห้าครบถ้วนตามกฎหมายแรงงาน คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฎหมายแรงงานที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเลิกจ้าง และถ้าโจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จด้วย และเงินบำเหน็จมากกว่าค่าชดเชยก็ถือได้ว่าจ่ายค่าชดเชยครบถ้วนตามกฎหมายรวมไปกับเงินบำเหน็จแล้ว จำเลยที่ 3 จ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีให้โจทก์ทั้งห้ารับไปแล้ว และเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีดังกล่าวมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยที่โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับ ถือว่าจำเลยที่ 3 จ่ายค่าชดเชยรวมไปกับเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีให้โจทก์ทั้งห้าครบถ้วนแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยอีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งห้าชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

 

(มงคล คุปต์กาญจนากุล - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายจักรกฤช เจริญเลิศ

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด