นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม


682 ผู้ชม


นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม




คดีแดงที่  794/2531

นางสาวสำเนาว์ กลิ่นระคนธ์ โจทก์
นายอร่าม สุทธะพินทุ กับพวก จำเลย

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 16) ข้อ 4
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10, 32, 45
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41 (4), 121

ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่านายจ้างเลิกจ้างโจทก์อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้นายจ้างรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์วันละ 70 บาท นับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับโจทก์กลับเข้าทำงาน การกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเรื่องค่าเสียหายทั่วไป หาใช่เป็นการกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์อันพึงต้องอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 หมายความว่าได้มีการเลิกจ้างโดยไม่มีสภาพการจ้างอยู่ต่อไปอีก ลูกจ้างจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากนายจ้างได้ แต่กรณีศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมนั้น โจทก์กับนายจ้างกลับมีสภาพการเป็นลูกจ้างและนายจ้างกันต่อไป ทั้งนายจ้างก็ยังมีสิทธิกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์หยุดได้ตามข้อ 10 โจทก์จึงหมดสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อ 32 (3) และข้อ 45

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑๖ ถูกจำเลยที่ ๑๖ เลิกจ้างเพราะโจทก์ไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานและชุมชนเพื่อเตรียมยื่นข้อเรียกร้อง เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม โจทก์ได้ร้องเรียนต่อจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ ในฐานะเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ แต่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ มีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ ซึ่งเป็นการไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ ให้จำเลยที่ ๑๖ รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมและชดใช้ค่าเสียหายจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงาน หากพฤติการณ์โจทก์ไม่อาจทำงานร่วมกับจำเลยที่ ๑๖ ได้ ขอให้จำเลยที่ ๑๖ ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๖ ให้การว่า การที่โจทก์ถูกเลิกจ้างไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ให้จำเลยที่ ๑๖ รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมเสมือนไม่มีการเลิกจ้างกับให้จ่ายค่าเสียหายวันละ ๗๐ บาทในจำนวนวันทำงานเดือนละ ๒๖ วัน รวมเป็นเงินเดือน ๑,๘๒๐ บาทนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานให้แก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยที่ ๑๖ จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างวันละ ๗๐ บาท ไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๖) ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๐ ที่กำหนดให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ ๗๓ บาท การกำหนดค่าเสียหายต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ ๑๖ ชดใช้ให้แก่โจทก์นั้น ศาลแรงงานกลางได้ถือเอาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๕) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยที่ ๑๖ เลิกจ้างโจทก์มาเป็นฐานคำนวณเป็นค่าเสียหายโดยมิได้คำนึงว่าขณะเลิกจ้างนั้น โจทก์ได้รับค่าจ้างมากหรือน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่เพียงใดทั้งกรณีเป็นเรื่องของค่าเสียหาย หาใช่มีการกำหนดให้จำเลยที่ ๑๖ จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์อันพึงต้องอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๖) ดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ไม่

โจทก์อุทธรณ์ประการต่อไปว่า ระหว่างโจทก์ทำงานกับจำเลยที่ ๑๖ นั้น โจทก์ไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปีรวมทั้งสิ้นเป็นเวลา ๓๐ วัน แต่ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาให้จำเลยที่ ๑๖ จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ ๑๖ จ่ายค่าจ้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย พิเคราะห์แล้ว ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๔๕ กำหนดว่า "ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ ๔๗ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ ๑๐ และข้อ ๓๒ ด้วย" เห็นว่าคำว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยมิได้กระทำความผิดหมายความว่า ได้มีการเลิกจ้างกันโดยไม่มีสภาพการจ้างอยู่ต่อไปอีก ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากนายจ้างได้ แต่ตามกรณีของโจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑๖ รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม ซึ่งมีผลเป็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๑๖ กลับมีสภาพของการเป็นลูกจ้างและนายจ้างกันต่อไป ทั้งจำเลยที่ ๑๖ ยังมีสิทธิกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์หยุดได้ต่อไป ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๑๐ ซึ่งจะเป็นเหตุให้โจทก์หมดสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามข้อ ๓๒ และข้อ ๔๕

พิพากษายืน

 

(มาโนช เพียรสนอง - จุนท์ จันทรวงศ์ - สีนวล คงลาภ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายเสงี่ยม คชาธาร

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด