ลูกจ้าง ถูกบีบบังคับ ข่มขู่ ให้เซ็นใบลาออก ??


747 ผู้ชม


ลูกจ้าง ถูกบีบบังคับ ข่มขู่ ให้เซ็นใบลาออก ??




    

คำพิพากษาฎีกาที่ 4052/2548

นายพลอย  บัวเจริญ               โจทก์

บริษัท ซี.พี. พลาซ่า  จำกัด      จำเลย

ข้อกฎหมาย 

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118  วรรคสอง “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้าง ทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ....”

ข้อพิจารณา

การที่ลูกจ้าง ยื่นใบลาออกเพราะนายจ้างพูดว่า “หากไม่ยื่นใบลาออก จะเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย” นั้น ถือเป็นการเลิกจ้างโดยพฤติการณ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  มาตรา 118 วรรคสองหรือไม่

คำวินิจฉัย

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2540  ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายครัว มีหน้าที่ดูแลครัวในรอบดึก กรณีผู้ดูแลครัวในรอบดึกขาด และมีหน้าที่ดูแลอาหารบุฟเฟ่ต์ ได้รับค่าจ้าง อัตราสุดท้ายเดือนละ 13,440 บาท เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยได้ออกหนังสือตักเตือนโจทก์ว่ากระทำผิดวินัยโดยไม่จัดพนักงานฝ่ายครัวเข้าดูแลงานในช่วงกลางคืน กับวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 จำเลยออกหนังสือตักเตือนโจทก์ว่า กระทำผิดวินัยโดยแสดงท่าทีก้าวร้าวไม่ให้เกียรติผู้บังคับบัญชา ต่อมา วันที่ วันที่ 8 กรกฎาคม 2546 ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลย ได้เรียกโจทก์เข้าไปพบที่ห้องประชุมฝ่ายบริหารและพูดคุยกัน แล้วโจทก์ได้เขียนใบลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย  โดยให้พ้นจากการเป็นพนักงานในวันที่ 9 กรกฎาคม 2546  ตามเอกสารหมาย ล.1 ให้แก่ บ.

แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาเรื่องโจทก์ เขียนใบลาออกโดยสมัครใจ หรือ ถูกบังคับข่มขู่ให้เขียนใบลาออก  ว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยมานานถึง 6 ปีเศษ ลักษณะงานที่ทำมีความมั่นคง รายได้ค่อนข้างดีภริยาโจทก์ก็ทำงานอยู่ในทีทำงานเดียวกัน ขณะที่โจทก์เขียนใบลาออกเองไม่ปรากฏว่า มีงานอื่นที่มีรายได้ดีกว่ารองรับอยู่  ก่อนเกิดเหตุเพียงไม่กี่วันโจทก์ได้ยืนใบลาพักผ่อนไว้  ชี้ให้เห็นว่าโจทก์มิได้มีความคิดที่จะลาออกมาก่อน หากโจทก์มีความประสงค์ที่จะลาออกจากงานจริงก็สามารถยื่นใบลาออกจาก ร. ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ตามระเบียบของจำเลย ไม่มีความจำเป็นจะต้องยื่นต่อ บ โดยตรง หากจำเลยต้องการเพียงเรียกโจทก์เข้าไปพบเพื่อสอบถามเรื่องที่โจทก์ไม่ยอมลงชื่อรับทราบความผิดตามหนังสือตักเตือน ฝ่ายบุคคลของจำเลยก็น่าจะดำเนินการได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียกประชุมตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุดถึงระดับผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทุกตำแหน่งในลักษณะเหมือนมีเรื่องสำคัญ หากโจทก์เข้าไปพบ ร. พูดว่าถ้าจะให้โจทก์ออกก็ขอให้เลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยให้ และ ร. บอกกับโจทก์ว่าความรับผิดตามใบเตือนยังไม่สามารถให้โจทก์ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้  โจทก์ยังสามารถทำงานกับจำเลยต่อไปได้จริง เหตุใดโจทก์ จึงยอมลงชื่อในใบลาออกซึ่งจะทำให้โจทก์เสียสิทธิในค่าชดเชยจำนวนแสนกว่าบาททั้งๆที่โจทก์เรียกร้องสิทธิในเงินส่วนนี้ ซึ่งเมื่อเทียบกับฐานะและรายได้ของโจทก์แล้ว นับว่า เป็นจำนวนค่อนข้างสูง ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ลงชื่อในใบลาออกเพราะโจทก์มีสาเหตุขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาก็ไม่เป็นผลเพียงพอที่จะทำให้โจทก์ยอมทิ้งงานที่มั่นคง มีรายได้และสวัสดิการดี ต้องสูญเสียรายได้ไปโดยไม่มีงานทำเช่นนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ ที่จำเลยเคยย้ายโจทก์ออกจากงานในรอบบ่ายไป ทำงานรอบดึกในลักษณะที่โจทก์ไม่สมัครใจ พฤติการณ์ที่ผู้บริหารของจำเลยเรียกประชุมผู้บังคับบัญชา เรียกโจทก์เข้าไปพบในห้องประชุม โดยเตรียม ใบลาออกไว้แล้ว และ ร บอกให้โจทก์เขียนใบลาออกให้มีผลในวันรุ่งขึ้น ทั้งๆที่ตามระเบียบของจำเลยจะต้องลาออกล่วงหน้า 30 วัน ล้วนสนับสนุนให้เห็นว่า จำเลยเป็นฝ่ายมีความประสงค์ให้โจทก์ยื่นใบลาออกจากงาน ไม่ใช่โจทก์สมัครใจยื่นใบลาออกเอง ประกอบกับหลังจากเขียนใบลาออกแล้ววันรุ่งขึ้นโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ กล่าวหาว่าจำเลยบีบบังคับให้ยื่นใบลาออกโดยไม่สมัครใจ การขู่ว่าหากไม่ยื่นใบลาออกจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยทันที พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า  จำเลยเป็นฝ่ายบีบบังคับให้โจทก์ยื่นใบลาออก โดยพูดว่า หากไม่ยื่นใบลาออกจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ในภาวะเช่นนั้นโจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะลูกจ้างย่อมเกิดความกลัวและยอมทำใบลาออกให้แก่จำเลย การเขียนใบลาออกของโจทก์จึงเกิดขึ้นเพราะการพูดข่มขู่ของจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบกับการที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกทันทีฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาจะไม่ให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปและจะไม่จ่ายค่าจ้างอันเป็นการเลิกจ้าง

หมายเหตุ

คดีนี้ ศาลฏีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและเหตุผลต่างๆ เกี่ยวกับการเลิกจ้างโดยปริยายได้ดีมาก โดยศาลฎีกาท่านเห็นว่า การเขียนใบลาออกของโจทก์ที่เกิดจากการข่มขู่ของจำเลยรวมทั้งพฤติการณ์อื่นๆ ดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาเลิกจ้างของจำเลยโดยพฤติการณ์

แต่น่าเสียดายที่ศาลฎีกาไม่ได้วินิฉัยว่าทำไมการแสดงเจตนาของโจทก์ตามใบลาออกที่เกิดจากการข่มขู่ของจำเลยนั้น เสียเปล่าหรือไม่ มีผลในทางกฎหมาย จึงอาจจะอนุมานได้ สามประการ คือ

ประการแรก  การแสดงเจตนาของโจทก์ตามใบลาออก มิได้มีเจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมา  และจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร้นอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น จึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154

ประการที่สอง  การแสดงเจตนาของโจทก์ตามใบลาออก เป็นการกระทำไปตามเจตนาการเลิกจ้างของจำเลย จึงถือว่าโจทก์ไม่ได้มีการกระทำหรือแสดงเจตนาใดๆ ให้มีผลผูกพันในทางกฎหมาย

ประการที่สาม  การแสดงเจตนาของโจทก์เป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 และโจทก์ได้บอกล้างโดยการไปฟ้องศาลในวันรุ่งขึ้นแล้ว จึงเป็นโมฆะมาแต่ต้น

 ซึ่งถ้าศาลฎีกาวินิจฉัยอย่างนั้น แสดงว่า การข่มขู่ดังกล่าวเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว  ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น ตามมาตรา 164 วรรคสอง และการที่นายจ้างพูดว่า “ถ้าไม่เขียนใบลาออก จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย” ไม่ใช่กรณีของ “การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกติ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165  ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้ นายจ้าง หรือฝ่ายบุคคลจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเกี่ยวกับการประนีประนอมให้ลูกจ้างเขียนใบลาออกเพื่อลูกจ้างจะได้ไม่ต้องเสียประวัติเองมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะได้กระทำความผิดถึงขั้นถูกเตือนเป็นหนังสือมาแล้วหลายครั้ง ดังกรณีของคดีนี้ก็ตาม ซึ่งอาจจะทำให้เป็นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับ “การเลิกจ้าง” โดยนายจ้างจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างตามควรแก่กรณีลดน้อยลง และก็คงเพิ่มสถิติการ “เลิกจ้าง” ตามกฎหมายโดยไม่มีการอะลุ้มอล่วยมากยิ่งขึ้น

ที่มา : สภาทนายความ

อัพเดทล่าสุด