ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3)


1,729 ผู้ชม


ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3)




คดีแดงที่  4921/2532

นายสมพร งามสมบัติ โจทก์
บริษัทซัมมิท โอโตซีส อินดัสตรี จำกัด จำเลย

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3)
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10, 20

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 มีเจตนารมณ์เพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้างโดยบัญญัติไว้ในข้อ 47 ว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้... (3) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว... การที่จำเลยออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า ลูกจ้างผู้ใดถูกใบเตือนของจำเลย 3 ครั้ง จึงจะถูกให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับเงินชดเชยใด ๆ นั้น กลับเป็นคุณแก่ลูกจ้าง โดยให้ความคุ้มครองลูกจ้างมากยิ่งขึ้นกว่าที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้นได้ให้ความคุ้มครองไว้ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงหาขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ไม่

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๒๑,๓๐๐ บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขาดงาน กระทำความผิดซ้ำคำเตือน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๑๐,๖๕๐ บาทแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดจำเลยต่อสู้ว่า โจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน ประเด็นข้อพิพาทมีเพียงว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนหรือไม่ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เพราะจำเลยออกใบเตือนโจทก์ยังไม่ครบ ๓ ครั้ง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นพิพาทนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ตามฟ้องโจทก์เช่นนี้ย่อมหมายความว่า โจทก์ไม่ได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยนั่นเอง เมื่อจำเลยต่อสู้ว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนประเด็นข้อพิพาทมีว่า โจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยหรือไม่ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยออกใบเตือนโจทก์ยังไม่ครบ ๓ ครั้ง ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นพิพาท หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นพิพาทดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่

ที่จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ข้อบังคับของจำเลยในส่วนนี้ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อบังคับของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่มีผลบังคับใช้นั้น เห็นว่าระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยในส่วนนี้คือข้อ ๑๗ ระบุว่า "ใบเตือนของบริษัทฯ บริษัทจะลงโทษด้วยใบเตือนครั้งละ ๑ ใบ (ลูกจ้างผู้ใดถูกใบเตือนของบริษัทฯ ๓ ครั้ง จะถูกให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับเงินชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นค่าจ้างที่ตกค้างอยู่) ฯลฯ" ส่วนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ ระบุว่า "นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ ฯลฯ (๓) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ฯลฯ" ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวนี้ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อการให้ความคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้าง การที่จำเลยออกระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยว่า ลูกจ้างผู้ใดถูกใบเตือนของจำเลย ๓ ครั้ง จึงจะถูกให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับเงินชดเชยใด ๆ นั้น กลับเป็นคุณแก่ลูกจ้าง โดยให้ความคุ้มครองลูกจ้างมากยิ่งขึ้นกว่าที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวได้ให้ความคุ้มครองไว้ ดังนั้น ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยในส่วนนี้จึงหาขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ ไม่มีผลบังคับใช้ดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

 

(ปรีชา ธนานันท์ - ศักดา โมกขมรรคกุล - อุดม เฟื่องฟุ้ง )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายชวลิต ดุลยสิงห์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด