ค่าล่วงเวลาและเบี้ยขยัน ไม่เป็นรายได้ของพนักงานที่จะนำมารวมเป็นหลักฐานคำนวณเงินโบนัส


901 ผู้ชม


ค่าล่วงเวลาและเบี้ยขยัน ไม่เป็นรายได้ของพนักงานที่จะนำมารวมเป็นหลักฐานคำนวณเงินโบนัส




    

คดีแดงที่  3800/2531

นายภูวนัย นิมิตไตรสกุล จ.
บริษัทพินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด ล.

 

พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2

รายได้ตลอดปีของพนักงานที่จะใช้คำนวณเงินโบนัสให้แก่พนักงานตามข้อบังคับของจำเลย หมายถึง เฉพราะรายได้ที่ลูกจ้างได้รับเป็นประจำตามปกติและมีจำนวนแน่นอนอันได้แก่ค่าจ้างรายเดือนหรือเงินเดือน ฉะนั้นค่าล่วงเวลาและเบี้ยขยันซึ่งเป็นเงินที่ลูกจ้างได้รับในระหว่างปีเป็นบางครั้งบางคราว และมีจำนวนไม่แน่นอน จึงไม่เป็นรายได้ของพนักงานที่จะนำมารวมเป็นหลักฐานคำนวณเงินโบนัส

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสที่ขาดเป็นเงิน ๑,๙๒๓ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยแถลงว่า ได้จ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ครบถ้วนแล้วโดยคำนวณจากรายได้ของโจทก์ซึ่งเป็นเงินเดือน ไม่ได้นำค่าล่วงเวลาและเบี้ยขยันมารวมเป็นฐานคำนวณด้วย

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสเป็นเงิน ๔๓ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าล่วงเวลาและเบี้ยขยันของพนักงานก็ถือว่าเป็นรายได้ของพนักงานเช่นเดียวกัน ดังนั้น ในการจ่ายเงินโบนัสตามประกาศของจำเลยจึงต้องนำค่าล่วงเวลาและเบี้ยขยันมารวมเป็นฐานคำนวณด้วย พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒,๙๐๔ บาท จำเลยได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานไว้ว่า "บริษัท ฯ จะทำการจ่ายโบนัสในอัตรา ๑๒.๕ % ของรายได้ของพนักงานจากวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๐ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๐ ในส่วนที่เพิ่มเติมจากที่ได้จ่ายไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๐ สำหรับพนักงานที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำของบริษัท ฯ แล้ว " จำเลยได้จ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์โดยคำนวณจากค่าจ้าง ซึ่งโจทก์ได้รับเดือนละ ๒,๙๐๔ บาท แต่มิได้นำค่าล่วงเวลาและเบี้ยขยันซึ่งโจทก์ได้รับมารวมเป็นฐานคำนวณด้วย ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประกาศของจำเลยได้ระบุรายได้อันจะนำมาคำนวณเงินโบนัสว่า "..........รายได้ของพนักงานจากวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๐ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๐ " ย่อมหมายถึงรายได้ที่ลูกจ้างได้รับเป็นประจำตามปกติและมีจำนวนแน่นอนอันได้แก่ค่าจ้างรายเดือนหรือเงินเดือนมิได้หมายความรวมถึงรายได้ประเภทอื่นซึ่งลูกจ้างได้รับในระหว่างปีไม่ว่าประเภทใด เช่นค่าอาหาร ค่ารถ เป็นต้น มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นรายได้ของพนักงานที่ต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณเงินโบนัสทั้งสิ้น อันเป็นการไม่ถูกต้อง ฉะนั้นค่าล่วงเวลาและเบี้ยขยัน ซึ่งเป็นเงินที่ลูกจ้างได้รับเป็นบางครั้งบางคราวในระหว่างปีและมีจำนวนไม่แน่นอนจึงถือไม่ได้ว่าเป็นรายได้ของพนักงาน ที่จะต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณเงินโบนัสตามประกาศของจำเลย การที่จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์โดยคำนวณจากค่าจ้างรายเดือนของโจทก์นั้น ชอบด้วยประกาศของจำเลยแล้ว

พิพากษายืน

 

(สุพจน์ นาถะพินธุ - จุนท์ จันทรวงศ์ - วิศิษฎ์ สิมานนท์ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายสมชาย อุดมวงษ์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด