ร่วมนัดหยุดงานภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานไปแล้วย่อมเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบ
คดีแดงที่ 3745/2531 | นางสาวสมเภา ดุดัน กับพวก จ. |
ป.วิ.พ. 243
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31, 49, 54
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41 (4) , 121
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งเจ็ดออกมาร่วมนัดหยุดงานภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานไปแล้วย่อมเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบ เมื่อจำเลยที่ 15 เลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ด จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่เนื่องจากโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 15 รับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายหรือให้จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายเนื่องจากถูกเลิกจ้างซึ่งเป็นดุลพินิจอันเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาวินิจฉัย เช่นนี้ เป็นเรื่องที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 ซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิเรียกร้องให้รับโจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหายให้ตาม มาตรา 41 (4) หาใช่เป็นกรณีที่ศาลฎีกาให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ไม่ ดังนั้น เมื่อย้อนสำนวนไปแล้ว ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดของจำเลยที่ 15 เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและกำหนดค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 จึงไม่ถูกต้อง จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยใหม่
…………………..……………………………………………………………..
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๔ เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ ๑๕ เป็นบริษัทจำกัด และโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑๕ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๙ สหภาพแรงงานส่งเสริมสิ่งทอไทยได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ ๑๕ และได้มีการนัดหยุดงานเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๕ หลังจากนั้นโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานส่งเสริมสิ่งทอไทยได้เข้าร่วมในการนัดหยุดงาน เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙ จำเลยที่ ๑๕ กับสหภาพแรงงานส่งเสริมสิ่งทอไทยได้ทำสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและลูกจ้างของจำเลยที่ ๑๕ ทุกคนได้กลับเข้าทำงานในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๒๙ ต่อมาวันที่ จำเลยที่ ๑๕ได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่ขาดงานเกินกว่าสามวันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๔ เพื่อขอให้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑๕ กระทำการอันไม่เป็นธรรม จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๔ มีคำสั่งว่า โจทก์ขาดงานเกินสามวันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การเลิกจ้างของจำเลยที่ ๑๕ ไม่ใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรม ทั้ง ๆ ที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ลงวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๙ ข้อ ๑๑ ระบุว่า "ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า ข้อพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสหภาพแรงงานได้สิ้นสุดลง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้นายจ้างและลูกจ้างจะไม่ถือเอาเหตุนัดหยุดงานกลั่นแกล้งซึ่งกันและกัน" การที่จำเลยที่ ๑๕ เลิกจ้างโจทก์ และคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๔ จึงไม่ชอบขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ ๔๐ - ๔๔/๒๕๓๐ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐ ให้จำเลยที่ ๑๕ รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม และจ่ายเงินค่าจ้างในอัตราที่ได้รับก่อนเลิกจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน กับให้จำเลยที่ ๑๕ จ่ายค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่างล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๔ ให้การว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ ๔๐ - ๔๔/๒๕๓๐ ชอบด้วยข้อเท็จจริงและกฎหมายเนื่องจากโจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่เพราะได้สมทบหยุดงานโดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ ๑๕ ทราบตามกฎหมาย ก่อนที่จะนัดหยุดงาน จำเลยที่ ๑๕ ได้ประกาศแก่ลูกจ้างทุกคนว่าถ้าเลยวันและเวลาที่นัดหยุดงานในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๙ แล้ว ลูกจ้างที่ยังปฏิบัติงานกับจำเลยที่ ๑๕ และมิได้ร่วมนัดหยุดงานจะใช้สิทธินัดหยุดงานไม่ได้ การที่โจทก์สมทบหยุดงานในภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑๕ ให้การว่า โจทก์กระทำความผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ผู้เข้าร่วมสมทบหยุดงานด้วยในภายหลังโดยไม่แจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทและอีกฝ่ายหนึ่งให้ทราบ เป็นการขัดต่อมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่สมาชิกสหภาพแรงงานได้ร่วมนัดหยุดงานภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานไปแล้วเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๕ และไม่ต้องแจ้งการนัดหยุดงานตามมาตรา ๓๔ การที่โจทก์มาร่วมหยุดงานภายหลังจากสหภาพแรงงานส่งเสริมสิ่งทอไทยได้นัดหยุดงานไปแล้ว จึงเป็นการหยุดงานโดยชอบ ที่จำเลยที่ ๑๕ เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ ๑๕ รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือให้จ่ายชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างแล้วพิพากษาใหม่ต่อไป
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างของจำเลยที่ ๑๕ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ โจทก์กับจำเลยที่ ๑๕ ไม่อาจทำงานร่วมกันได้จำเลยที่ ๑๕ ต้องจ่ายค่าชดเชยกับค่าเสียหายให้แก่โจทก์ สำหรับค่าเสียหายตั้งแต่วันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างถึงวันที่จำเลยที่ ๑๕ รับกลับเข้าทำงานนั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ ๑๕ไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ จึงไม่มีค่าเสียหายที่จะพิจารณาให้ ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ถูกเลิกจ้างขณะโจทก์หยุดงานอันเป็นการละทิ้งหน้าที่การงาน จึงไม่มีสิทธิได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑๕ จ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปรากฏว่า ศาลฎีกาได้พิพากษายกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางโดยวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทึ้งเจ็ดออกมาร่วมนัดหยุดงานภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานไปแล้วย่อมเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบ การที่จำเลยที่ ๑๕ เลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ คำสั่งที่ ๔๐ - ๔๔/๒๕๓๐ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐ ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๔ จึงไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่เนื่องจากโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ ๑๕ รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่รับกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายเนื่องจากถูกเลิกจ้างซึ่งเป็นดุลพินิจอันเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยได้ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาวินิจฉัยดังนี้ เป็นเรื่องที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ ซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับโจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหายได้ตามมาตรา ๔๑ (๔) หาใช่เป็นกรณีที่ศาลฎีกาให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒ มาตรา ๔๙ ไม่ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดของจำเลยที่ ๑๕ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและกำหนดค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ จึงไม่ถูกต้องกรณีจึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามนัยที่ระบุในคำพิพากษาฎีกาครั้งแรกแล้วพิพากษาชี้ขาดตามรูปคดีต่อไป
(มาโนช เพียรสนอง - จุนท์ จันทรวงศ์ - สีนวล คงลาภ )
ศาลแรงงานกลาง - นายธวัช สุทธิสมบูรณ์
ศาลอุทธรณ์ -