ข้อบังคับของนายจ้างระบุว่า พนักงานอาจถูกไล่ออกเมื่อ"มาทำงานสายกลับก่อนเวลาทำงาน ฯล


779 ผู้ชม


ข้อบังคับของนายจ้างระบุว่า พนักงานอาจถูกไล่ออกเมื่อ"มาทำงานสายกลับก่อนเวลาทำงาน ฯล




    

คดีแดงที่  2600/2526

บริษัทเทยิน โพลีเอศเตอร์ จำกัด โจทก์
นายอร่าม สุทธะพินทุ กับพวก จำเลย
นายเสรี พินชู กับพวก จำเลยร่วม

 

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10, 41 (4), 123
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51, 52

ข้อบังคับของนายจ้างระบุว่า พนักงานอาจถูกไล่ออกเมื่อ"มาทำงานสายกลับก่อนเวลาทำงาน ฯลฯ แม้จะได้มีการตักเตือนด้วย วาจาหลายครั้ง รวมทั้งทำทัณฑ์บนเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหนึ่ง ครั้ง" นั้นมีความหมายว่าต้องมีการกระทำประการหนึ่งประการใดในครั้งสุดท้ายที่นายจ้างจะถือเป็นเหตุไล่ออกเกิดขึ้นด้วยจะถือเอาการตักเตือนหลาย ๆ ครั้ง หรือการทำทัณฑ์บนมาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่ต้องมีการกระทำในปัจจุบันหาได้ไม่ แม้ข้อบังคับข้ออื่นระบุว่า"พนักงานที่ถูกทำทัณฑ์บนเป็นลายลักษณ์อักษร หากทำผิดซ้ำอีกจะถูกลงโทษขั้นไล่ออก" แต่เมื่อปรากฏว่าพนักงานบางคนกระทำผิดซ้ำนายจ้างก็ไม่ได้ลงโทษถึงขั้นไล่ออกแต่กลับตักเตือนต่อมาอีกหลายครั้งแสดงว่านายจ้างไม่ติดใจลงโทษโดยเหตุนั้นแล้ว ดังนั้น นายจ้างจะเลิกจ้างโดยอาศัยข้อบังคับข้อนี้หาได้ไม่ การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับโดยไม่ปรากฏว่าลูกจ้างกระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 123 แห่ง พระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ฯ จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

ถ้าศาลเห็นว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่สั่งเรื่องค่าเสียหายนั้นไม่ถูกต้อง ศาลมีอำนาจพิพากษาเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างจำนวน ๑๘ คนของโจทก์มีผลงานต่ำ ขาดงานเกียจคร้าน และไม่ปฏิบัติตามทัณฑ์บน โจทก์จึงเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวจำเลยทั้ง ๑๓ คน ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้วินิจฉัยว่า การเลิกจ้างของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่ลูกจ้างมากเกินไปทั้ง ๆ การเลิกจ้างของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย และยืนค่าเสียหายที่โจทก์วางไว้ต่อศาลแรงงานกลางแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ลูกจ้างที่โจทก์เลิกจ้างเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เหตุแห่งการเลิกจ้างไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๑๒๓ คำสั่งของจำเลยจึงชอบแล้วการกำหนดค่าเสียหายจำเลยได้วินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๔๑(๔) จึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายตามจำนวนที่กำหนดให้ลูกจ้างทั้ง ๑๘ คน คำขออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยทุกคนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามเอกสารสรุปประวัติพนักงานที่บริษัทเลิกจ้างได้ความว่า ส่วนใหญ่เคยได้รับใบตักเตือนและทำทัณฑ์บนเกี่ยวกับการขาดงานมาแล้วคนละหลายครั้ง ที่โจทก์อ้างข้อบังคับข้อ ๓๐.๑๐ ที่ว่า พนักงานอาจถูกไล่ออกเมื่อ "มาทำงานสาย กลับก่อนเวลาเลิกงานขาดงานหรือละทิ้งงานบ่อย ๆ แม้จะได้มีการตักเตือนด้วยวาจาหลายครั้งรวมทั้งทำทัณฑ์บนเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหนึ่งครั้ง" นั้น มีความหมายว่าต้องมีการกระทำประการหนึ่งประการใดในครั้งสุดท้ายที่โจทก์จะถือเป็นเหตุไล่ออกเกิดขึ้นด้วย ส่วนการตักเตือนด้วยวาจาและการทำทัณฑ์บนในเหตุการณ์ที่มีมาแล้วนั้นเป็นเพียงเหตุประกอบการกระทำในปัจจุบันเท่านั้นไม่ใช่ถือเอาการตักเตือนหลายครั้งหรือการทำทัณฑ์บนมาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่ต้องมีการกระทำในปัจจุบัน ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าพนักงานทั้ง ๑๘ คนได้กระทำการตามข้อ ๓๐.๑๐ โจทก์จึงนำเอาประวัติการตักเตือนและการทำทัณฑ์บนล้วน ๆ มาลงโทษเลิกจ้างพนักงานดังกล่าวไม่ได้ ส่วนข้อ ๓๒ กล่าวถึงการกระทำผิดซ้ำว่า ".......พนักงานที่ถูกทำทัณฑ์บนเป็นลายลักษณ์อักษรหากทำผิดซ้ำอีกจะถูกลงโทษขั้นไล่ออก" ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพนักงานบางคนถูกทำทัณฑ์บนแล้วต่อมากระทำอย่างเดียวกันอีกโจทก์ก็ไม่ได้ลงโทษถึงขั้นไล่ออก แต่กลับตักเตือนต่อมาอีกหลายครั้งบ้าง ครั้งเดียวบ้าง แสดงว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะลงโทษพนักงานโดยเหตุนั้นแล้ว และต่อมาไม่ปรากฏว่าพนักงานได้กระทำการใด ๆ ขึ้นใหม่ พนักงานบางคนถูกทำทัณฑ์บนครั้งเดียวแล้วไม่ปรากฏว่าได้กระทำผิดประการใดอีก ดังนี้ โจทก์จะเลิกจ้างพนักงานเหล่านั้นโดยอาศัยข้อบังคับข้อ ๓๒ นี้ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน ส่วนการที่ผลงานของพนักงานไม่ดีนั้นไม่มีข้อบังคับข้อใดของโจทก์ให้ลงโทษถึงขั้นเลิกจ้างได้ฉะนั้น การที่โจทก์เลิกจ้างพนักงานทั้ง ๑๘ คน ในขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับ โดยไม่ปรากฏว่าพนักงานกระทำประการหนึ่งประการใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. ๒๕๑๘ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงจำนวนค่าเสียหายที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้กำหนด พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๑(๔) จะให้อำนาจกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายอยู่ด้วย ก็มิได้หมายความว่าถ้าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งเรื่องค่าเสียหายประการใดเป็นอันเด็ดขาดตามนั้น เพราะเหตุว่าแม้โจทก์มาฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เสียทั้งหมด ถ้าศาลเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องศาลก็ยังมีอำนาจให้เพิกถอนคำสั่งนั้นเสียได้ เหตุใดเมื่อศาลเห็นว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องเพียงบางส่วนศาลจึงจะไม่มีอำนาจพิพากษาแก้ไขคำสั่งส่วนที่ไม่ถูกต้องนั้นเสียใหม่ ฉะนั้นเมื่อไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจศาลในการพิพากษาคดีในปัญหาดังกล่าว ศาลก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาคดีได้ตามหลักทั่วไปในการพิพากษาคดี ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนค่าเสียหายให้แตกต่างไปจากจำนวนค่าเสียหายตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จึงกระทำได้โดยชอบ

พิพากษายืน

 

(สุรัช รัตนอุดม - ขจร หะวานนท์ - จุนท์ จันทรวงศ์ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายถวิล อินทรักษา

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด