หนังสือเตือนของนายจ้างจะต้องมีรูปแบบอย่างใดจึงจะเป็นการสมบูรณ์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้


924 ผู้ชม


หนังสือเตือนของนายจ้างจะต้องมีรูปแบบอย่างใดจึงจะเป็นการสมบูรณ์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้




    

คดีแดงที่  1336/2527

บริษัทไทยโรงแรม จำกัด ฯ โจทก์
นายอร่าม สุทธะพินทุ กับพวก จำเลย

 

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123

หนังสือเตือนของนายจ้างจะต้องมีรูปแบบอย่างใดจึงจะเป็นการสมบูรณ์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ฉะนั้นการจะวินิจฉัยว่าหนังสือใดเป็นหนังสือเตือน จึงพิจารณาโดยความคิดเห็นของบุคคลสามัญจะพึงเข้าใจ โจทก์เคยมีแบบฟอร์มใบเตือนใช้อยู่ทั่วไป ครั้นในคราวเตือนลูกจ้างมิได้ใช้แบบฟอร์มเช่นนั้น เมื่อหนังสือดังกล่าวมีข้อความเตือนลูกจ้างอย่างชัดแจ้ง ทั้งยังมีข้อความว่าต่อไปจะลงโทษหากปฏิบัติทำนองเดิมอีก ดังนี้ เป็นการว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือโดยชอบแล้ว

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เลิกจ้างนายวัสชโย นายวัสชโยร้องต่อจำเลยว่าการเลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้โจทก์รับกลับเข้าทำงานต่อหรือจ่ายค่าเสียหายจำเลยพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า การเลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายหรือรับนายวัสชโยกลับเข้าทำงาน โจทก์เห็นว่าาโจทก์เลิกจ้างนายวัสชโยเพราะกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับระเบียบและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างว่ากล่าวตักเตือนแล้ว และการฝ่าฝืนมีลักษณะร้ายแรง การเลิกจ้างไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลย

จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว จำเลยเลิกจ้างนายวัสชโยระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับอยู่ นายวัสชโยมิได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า หนังสือเตือนของนายจ้างจะต้องมีรูปแบบอย่างใดจึงจะเป็นการสมบูรณ์ ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ฉะนั้น การที่จะวินิจฉัยว่าหนังสือใดเป็นหนังสือเตือนจึงพิจารณาโดยความคิดเห็นของบุคคลสามัญจะพึงเข้าใจ โจทก์เคยมีแบบฟอร์มหนังสือเตือนใช้อยู่ทั่วไป ครั้นในคราวเตือนนายวัสชโยมิได้ใช้แบบฟอร์มเช่นนั้น เมื่อหนังสือดังกล่าวมีข้อความเตือนนายวัสชโยอย่างชัดแจ้ง ทั้งยังได้มีข้อความว่าต่อไปจะลงโทษหากปฏิบัติทำนองเดิมอีก ดังนี้ ฟังได้ว่าเป็น "การว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือ" โดยชอบแล้ว เมื่อกรณีฟังว่านายวัสชโยกระทำฝ่าฝืนข้อบังคับระเบียบอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้วยังมากระทำซ้ำอีก ทั้งยังเป็นการกระทำโดยจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายเป็นความผิดร้ายแรง การที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างจึงเป็นธรรมแล้ว

พิพากษายืน

 

(วรา ไวยหงษ์ - ขจร หะวานนท์ - จุนท์ จันทรวงศ์ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายวินัย วิมลเศรษฐ์

ศาลอุทธรณ์ -

อัพเดทล่าสุด