การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นประการสำคัญ


703 ผู้ชม


การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นประการสำคัญ




    

คดีแดงที่  4291-4295/2528

สิบตรีชำนาญ อาภัสสร โจทก์
องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ จำเลย

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 49
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123

การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นประการสำคัญ แม้การเลิกจ้างนั้นจะเป็นเหตุให้ผู้ถูกเลิกจ้างเดือดร้อน แต่ก็เป็นความจำเป็นทางด้านนายจ้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้กิจการของนายจ้างดำรงอยู่ต่อไป ย่อมเป็นสาเหตุที่จำเป็นแก่การเลิกจ้างแล้วแม้นายจ้างมิได้ยุบหน่วยงานที่ผู้ถูกเลิกจ้างทำงานอยู่ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

จำเลยที่ 1 ประสบภาวะขาดทุน ไม่สามารถดำเนินกิจการไปได้โดยราบรื่น จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการเลิกจ้างพนักงาน เมื่อเลิกจ้างก็ได้จ่ายเงินบำเหน็จ ค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและไม่เป็นการฝ่าฝืนบันทึกผลการเจรจาข้อเรียกร้องซึ่งห้ามจำเลยที่ 1 เลิกจ้างพนักงานและลูกจ้างไม่ว่ากรณีใด ๆ มิฉะนั้นแล้วแม้จำเลยที่ 1 ประสบภาวะขาดทุนมีหนี้สินมากจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ กิจการหยุดชะงักงันโดยสิ้นเชิงจำเลยที่ 1 ก็ยังจะต้องรับภาระจ้างพนักงาน และลูกจ้างในจำนวนเดิมและไม่สามารถแก้ไขวิกฤติการณ์ จึงย่อมเป็นไปไม่ได้

โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้อง ศาลแรงงานกลางสั่งว่า ''สำเนาให้จำเลยสั่งวันฟ้อง'' แต่หลังจากนั้นจนถึงวันที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาศาลแรงงานกลางก็มิได้สั่งคำร้องขอแก้ไขฟ้องดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องตามคำร้อง

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยได้มีบันทึกผลการเจรจาข้อเรียกร้องซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ว่าห้ามจำเลยที่ ๑ เลิกจ้าง ไล่ออกให้ออก ปลดออกพนักงานและลูกจ้างไม่ว่ากรณีใด ๆ เว้นแต่จะกระทำความผิดประมาทเลินเล่อและเกษียณอายุ ฯลฯ ต่อมาจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้อำนวยการของจำเลยที่ ๑ และในฐานะส่วนตัวได้ย้ายโจทก์ทุกคนจากตำแหน่งหน้าที่เดิมที่มีงานทำไปดำรงตำแหน่งหน้าที่ใหม่ที่ไม่มีงานทำและต่อมาเลิกจ้างโจทก์ทุกคนโดยอ้างเหตุสภาวะขาดทุน เหตุย้ายและเหตุเลิกจ้างโจทก์ทุกคนเป็นเท็จ จำเลยที่ ๒ อาศัยอำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบกลั่นแกล้งย้ายโจทก์ทุกคน แล้วแต่ตั้งพรรคพวกมาทำแทนมิได้ยุบหน่วยงานที่โจทก์ทุกคนทำอยู่ กิจการของจำเลยที่ ๑ ยังคงแพร่หลายในธุรกิจขนส่งสินค้า มีการปรับปรุงและขยายกิจการ การย้ายตำแหน่งหน้าที่และเลิกจ้างเป็นการกลั่นแกล้ง เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ ให้บังคับจำเลยทั้งสองรับโจทก์ที่ ๒ ถึง ๖๙ กลับเข้าทำงาน หรือมิฉะนั้นให้ใช้ค่าเสียหายให้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ ๒๔, ๒๘ -๓๐, ๓๗, ๓๘

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ขาดทุนตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ กระทรวงคมนาคมสั่งให้จำเลยที่ ๑ ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการบริหารหรือไม่ก็ยุบเลิกกิจการของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงปรับปรุงแก้ไขโดยยุบเลิกหน่วยงานที่ขาดทุน จำเลยทั้งสองจึงย้ายตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ทุกคนซึ่งมีอายุ ๕๕ ปีขึ้นไปแล้วเลิกจ้าง รวมเลิกจ้างพนักงาน ๒๐๙ คน เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร บันทึกผลการเจรจาข้อเรียกร้องไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ทุกคนมิได้กระทำในฐานะส่วนตัว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทุกคนยกเว้นโจทก์ที่ ๓๕ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่ต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นประการสำคัญ แม้การเลิกจ้างนั้นจะเป็นเหตุให้ผู้ถูกเลิกจ้างเดือดร้อนแต่ก็เป็นความจำเป็นทางด้านนายจ้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้กิจการของนายจ้างยังคงดำรงอยู่ต่อไปโดยหวังว่ากิจการจะมีโอกาสกลับฟื้นคืนตัวได้ใหม่ อันจะเป็นประโยชน์แก่นายจ้างเองและลูกจ้างส่วนใหญ่ ย่อมเป็นสาเหตุที่จำเป็นแก่การเลิกจ้างแล้วแม้จำเลยที่ ๑ มิได้ยุบหน่วยงานที่โจทก์ที่ ๑ ทำงานอยู่ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้สั่งย้ายโจทก์ทุกคนจากตำแหน่งหน้าที่เดิมที่มีงานทำไปอยู่ตำแหน่งใหม่ที่ไม่มีงานทำ แล้วเลิกจ้างเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ เพื่อช่วยเหลือพรรคพวกของจำเลยที่ ๒ เหตุและการสั่งย้ายเป็นเท็จ จำเลยที่ ๑ หาได้ประสบภาวะขาดทุนไม่ ดังนั้นข้อที่โจทก์อุทธรณ์เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจำเลยที่ ๑ กับอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๙๖ กับอำนาจหน้าที่ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเป็นประการใด มีอยู่เฉพาะที่โจทก์บกขึ้นอ้างในอุทธรณ์หรือไม่ การสั่งย้ายตำแหน่งหน้าที่และการเลิกจ้างเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์หาได้ตั้งเป็นประเด็นในคำคู่ความไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการแปลกฎหมายดังกล่าวข้างต้นซึ่งมิได้เกี่ยวด้วยประเด็นในคำฟ้อง และข้อกฎหมายดังกล่าวไม่เป็นเหตุ ที่จะนำไปประกอบการประสบภาวะขาดทุนอันเป็นข้อเท็จจริงได้

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ เป็นบทบัญญัติอยู่ในหมวด ๙ ว่าด้วยการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งมุ่งคุ้มกันมิให้นายจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้างเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ประสบภาวะขาดทุนจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการเลิกจ้างพนักงาน เมื่อเลิกจ้างก็ได้จ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยให้ตามกฎหมายแล้ว คือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและไม่เป็นการฝ่าฝืนบันทึกผลการเจรจาข้อเรียกร้องการที่จะแปลว่าบันทึกดังกล่าวมีผลใช้บังคับเด็ดขาด จำเลยที่ ๑ จะเลิกจ้างพนักงานและลูกจ้างไม่ได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ เว้นแต่พนักงานหรือลูกจ้างกระทำความผิดหรือเหตุอื่นอันต้องด้วยข้อยกเว้นนั้น เป็นการแปลที่ฝ่าฝืนต่อสภาวะอันเป็นไปโดยธรรมชาติ มิฉะนั้นแม้จำเลยที่ ๑ ประสบภาวะขาดทุนมีหนี้สินมากล้นพ้นจนกิจการหยุดชะงักงัน จำเลยที่ ๑ ก็ยังต้องรับภาระต้องจ้างพนักงานและลูกจ้างในจำนวนเดิมอยู่นั่นเองไม่สามารถแก้ไขวิกฤติการณ์ของตนประการใดได้ ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ โจทก์ส่วนใหญ่รับเงินบำเหน็จและค่าชดเชยไปจากจำเลยที่ ๑ แล้ว ย่อมเป็นข้อแสดงว่าแม้บันทึกผลการเจรจาข้อเรียกร้องดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่ก็มีการเลิกจ้างกันได้

โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ศาลแรงงานกลางสั่งว่า "สำเนาให้จำเลยสั่งวันฟ้อง" แต่หลังจากนั้นจนถึงวันที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา ศาลแรงงานกลางมิได้สั่งคำร้องขอแก้ไขฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด กรณีจึงถือไม่ได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องตามคำร้อง

พิพากษายืน

 

(จุนท์ จันทรวงศ์ - สมบูรณ์ บุญภินนท์ - เพียร สุมิระ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายวิศิษฎ์ วิศาลสวัสดิ์

ศาลอุทธรณ์ -

อัพเดทล่าสุด