การขาดงาน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลที่สมควร


981 ผู้ชม


การขาดงาน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลที่สมควร




คดีแดงที่  1244/2541

นางสาวนลิน วานิชชัย โจทก์
บริษัทการแพทย์ตะวันออก จำกัด กับพวก จำเลย

 

ป.พ.พ.มาตรา 583
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46, 47 (4) (5)

ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 4.7 กำหนดเรื่องการขาดงาน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลที่สมควร จะถูกพิจารณาโทษทางวินัย คือ ขาดงานครั้งแรก ไม่จ่ายค่าจ้างในวันขาดงานและออกหนังสือเตือนครั้งที่ 1 การขาดงานครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 จะไม่จ่ายค่าจ้าง 2 เท่า และ 3 เท่าของค่าจ้าง พร้อมกับออกหนังสือเตือนทั้งสองครั้งตามลำดับ การขาดงานครั้งที่ 4จึงจะเลิกจ้างได้ และข้อ 5.24 กำหนดว่า เจ้าหน้าที่ที่ฝ่าฝืนระเบียบของศูนย์ประกันสังคมของจำเลยจะถูกพิจารณาลงโทษดังนี้ 1.ตักเตือนด้วยวาจา 2.ออกจดหมายเตือนครั้งที่ 1 3.ออกจดหมายเตือนครั้งที่ 2 4.ออกจดหมายเตือนครั้งที่ 3 พักงานโดยมีกำหนดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และ 5.เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ดังนั้น ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว เจ้าหน้าที่ที่ขาดงานโดยละทิ้งหน้าที่จำเลยจะต้องเตือนด้วยวาจา 1 ครั้งก่อน หากมีการกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมหลังจากนั้นจำเลยจะต้องออกหนังสือเตือนถึง 3 ครั้ง เมื่อขาดงานครั้งที่ 5 จึงให้เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย เมื่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยทั้งสองนี้ ถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยระบุในหนังสือเลิกจ้างว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงาน โดยในครั้งแรกโจทก์ได้รับคำสั่งของจำเลยให้โจทก์ไปทำงานเป็นแพทย์ประกันสังคมประจำโรงพยาบาล ร. แต่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามจำเลยจึงได้ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาล ร. โจทก์รับทราบหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ยอมไป เมื่อตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจะต้องตักเตือนด้วยวาจา 1 ครั้ง และออกหนังสือเตือนอีก 3 ครั้งจึงจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ การที่จำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์เพียงครั้งเดียวแล้วเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จึงเป็นการเลิกจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

แต่การที่โจทก์ได้รับคำสั่งจากศูนย์ประกันสังคมเอกชนในนามจำเลยที่ 1 ให้ไปปฏิบัติงานเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาล ร. แต่โจทก์ก็ไม่ไปปฏิบัติงานตามคำสั่ง เมื่อจำเลยมีหนังสือย้ำให้โจทก์ไปปฏิบัติงานภายในเวลาที่กำหนด โจทก์ก็ไม่ไปปฏิบัติงานตามหน้าที่อีก เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยทั้งสองโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ทั้งจำเลยได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว จึงมีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ส่วนลำดับขั้นตอนการลงโทษตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่กำหนดให้จำเลยเตือนด้วยวาจาในครั้งแรก และออกหนังสือเตือนอีก 3 ครั้ง จึงจะเลิกจ้างลูกจ้างได้นั้น เมื่อระเบียบดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดว่าให้ใช้แก่กรณีเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่านั้น ดังนี้จะนำระเบียบนี้มาใช้บังคับแก่กรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งมีหลักเกณฑ์การวินิจฉัยแตกต่างจากการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และข้อ 47 หาได้ไม่ และการที่โจทก์ไม่ไปปฏิบัติงานเป็นการจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างแล้ว จำเลยจึงมีเหตุที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 583

 

…………………..……………………………………………………………..

 

 

(กมล เพียรพิทักษ์ - พรชัย สมรรถเวช - จรัญ หัตถกรรม )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายธีระยุทธ ทรัพย์นภาพร

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด