ลูกจ้าง ดื่มสุราจนมึนเมาภายในบริเวณโรงแรม เมื่อพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว


782 ผู้ชม


ลูกจ้าง ดื่มสุราจนมึนเมาภายในบริเวณโรงแรม เมื่อพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว




คดีแดงที่  698/2541

นายเอกฤทธิ์ ศรีบัณฑิต โจทก์
บริษัทโรงแรมโอเรียลเต็ล
(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน จำเลย

 

ป.พ.พ.มาตรา 11, 171, 583
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46, 47

ขณะเกิดเหตุ โรงแรมจำเลยกำลังมีงานจัดเลี้ยงภายในบริเวณโรงแรม โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยดื่มสุราจนมึนเมาภายในบริเวณโรงแรมเมื่อพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วสามชั่วโมง แต่โจทก์ยังอยู่ในชุดทำงานและมิได้ตอกบัตรลงเวลาเลิกงาน โจทก์ล้มนอนหงายเท้าถีบตู้กระจกแสดงสินค้าของลูกค้าโรงแรมจำเลยแตกเสียหาย ดังนี้ เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุว่า ดื่มเครื่องดองของเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือภายในบริเวณบริษัทฯและมาทำงานในขณะที่มีอาการมึนเมา หรือมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายได้เนื่องจากเสพเครื่องดองของเมาหรือยาเสพติดให้โทษอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่า ดื่มเครื่องดองของเมาหรือมึนเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือขณะทำงานหรือมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่กรณีของโจทก์เป็นเรื่องมึนเมาสุราหลังจากพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่หรือการทำงานแล้ว จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อนี้

ส่วนการที่โจทก์ดื่มสุราจนเมาล้มลงเท้าถีบตู้กระจกของลูกค้าจำเลยแตกเสียหายนั้น เมื่อไม่ใช่เรื่องโจทก์เจตนาทำลายทรัพย์สิน ชื่อเสียงและความมั่นคงของจำเลย แม้จะมีการจัดเลี้ยงอยู่ในบริเวณโรงแรมจำเลยแต่บริเวณที่โจทก์เมาสุรา และล้มลงเท้าถีบตู้กระจกลูกค้าจำเลยแตกนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นบริเวณที่จัดเลี้ยง จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยเสียชื่อเสียงและความมั่นคงของจำเลย ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุ ความผิดประเภท ง ที่ว่า "เจตนาทำลายทรัพย์สิน ชื่อเสียง และความมั่นคงของบริษัทฯ" การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานประเภทนี้เช่นเดียวกัน

สำหรับความผิดประเภท ข ที่ระบุว่า "อยู่ภายในบริเวณบริษัทฯ หลังจากพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่แล้ว หรือกลับเข้ามาในบริเวณบริษัทฯขณะที่ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่หรือในขณะที่ลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรพนักงานทุกคนต้องออกจากบริเวณบริษัทฯ ภายในครึ่งชั่วโมงหลังจากที่พ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่แล้ว (พนักงานระดับบริหาร และหัวหน้าแผนกต่าง ๆถือว่าปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลาในขณะที่อยู่ในบริเวณบริษัทฯ)" เมื่อการกระทำผิดในข้อนี้ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยได้กำหนดโทษสำหรับความผิดประเภทนี้ไว้ถึง 3 ขั้น คือ ความผิดครั้งที่หนึ่งออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ความผิดครั้งที่สอง ออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้าย ความผิดครั้งที่สาม ปลดออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องร้ายแรงที่จำเลยอาจเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) การที่โจทก์ซึ่งมิใช่พนักงานระดับบริหารหรือหัวหน้าแผนกเลิกงานแล้ว แต่ยังอยู่ในบริเวณโรงแรมจำเลยโดยมิได้ออกไปภายในครึ่งชั่วโมงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือขัดคำสั่งจำเลยที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ไม่ร้ายแรงเท่านั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว แม้เป็นข้อที่ไม่ร้ายแรงแต่ก็ถือได้ว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว แม้เป็นข้อที่ไม่ร้ายแรงก็ตาม แต่การที่จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรมมีชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางใจจากคนเดินทางหรือแขกที่มาพัก ในวันเกิดเหตุโจทก์เลิกงานแล้วยังอยู่ในชุดทำงาน และเมาสุราล้มลงนอนหงายเท้าถีบตู้กระจกของลูกค้าจำเลยเสียหายเช่นนี้นับว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ กรณีมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์

 

…………………..……………………………………………………………..

 

 

( )

 

ศาลชั้นต้น -

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด