เรื่องของ สัญญาจ้าง


796 ผู้ชม


เรื่องของ สัญญาจ้าง




คดีแดงที่  6767-6769/2542

นางสาวนภาลักษณ์ วัยศิริโรจน์ กับพวก โจทก์
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ จำกัด (มหาชน) จำเลย

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46

สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยระบุว่า สัญญาฉบับนี้มีระยะเวลา 24 เดือน จากวันเริ่มจ้าง แต่อาจมีการทำข้อตกลงกันใหม่ก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดโดยเป็นที่ยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อข้อตกลงการจ้างมีเงื่อนไขที่โจทก์กับจำเลยจะตกลงจ้างกันต่อไป ถือได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นการจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามสัญญา จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย

 

…………………..……………………………………………………………..

 

คดีทั้งสามสำนวนศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ ๑ ถึงโจทก์ที่ ๓

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่า จะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ ตามลำดับ

จำเลยทั้งสามสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้โดยสรุปว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสามเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง โดยให้โจทก์ที่ ๑ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายวานิชธนกิจ โจทก์ที่ ๒ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายหลักทรัพย์ และโจทก์ที่ ๓ ทำหน้าที่ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายหลักทรัพย์ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒๖ ของทุกเดือน กำหนดระยะเวลาจ้าง ๒๔ เดือน ครบกำหนดวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๑ ตามสัญญาจ้าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งให้จำเลยระงับการดำเนินกิจการชั่วคราวตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ ทำให้จำเลยไม่สามารถให้บริการลูกค้าใหม่ได้ จำเลยถูกปิดกิจการถาวรเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ แม้สัญญาจ้างโจทก์ทั้งสามทำงานมีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอนและจำเลยไม่ต่ออายุสัญญาให้โจทก์ทั้งสามก็ตาม ก็เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ วรรคท้าย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการจ้างระหว่างจำเลยและโจทก์ทั้งสามมีกำหนดเวลาไว้แน่นอนนั้น เมื่อพิจารณาเงื่อนไขสัญญาจ้าง ข้อ ๒ ที่ระบุว่า "สัญญาฉบับนี้มีระยะเวลา ๒๔ เดือน จากวันเริ่มจ้างจริง แต่อาจจะมีการทำข้อตกลงกันใหม่ก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดโดยเป็นที่ยอมรับทั้ง ๒ ฝ่าย" ข้อความที่ว่า "แต่อาจจะมีการทำข้อตกลงกันใหม่ก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดโดยเป็นที่ยอมรับทั้ง ๒ ฝ่าย" ย่อมจะเห็นได้ว่าข้อตกลงการจ้างดังกล่าวมีเงื่อนไขที่โจทก์ทั้งสามกับจำเลยจะตกลงจ้างกันต่อไป ถือได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นการจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตามสัญญาจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย…

พิพากษายืน.

 

(ธนะพัฒน์ แจ่มจันทร์ - พิมล สมานิตย์ - อร่าม หุตางกูร )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายสมพงษ์ เหมวิมล

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด