หนังสือบอกกล่าวเลิกจ้าง ลูกจ้างและมีกำหนดจ่ายค่าจ้างกันก่อนวันสิ้นเดือนของทุกเดือน


671 ผู้ชม


หนังสือบอกกล่าวเลิกจ้าง ลูกจ้างและมีกำหนดจ่ายค่าจ้างกันก่อนวันสิ้นเดือนของทุกเดือน




คดีแดงที่  4625/2542

นายสำราญ มีชาวนา โจทก์
๒ กรมโรงงานอุตสาหกรรม
(โรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี) จำเลย
ฯลฯ

 

ป.พ.พ.มาตรา 582
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46
ข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วย กองทุนบำเหน็จ
พ.ศ.2527 ข้อ 12

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างและมีกำหนดจ่ายค่าจ้างกันก่อนวันสิ้นเดือนของทุกเดือนโดยให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันวันที่ 1 สิงหาคม 2541 แต่โจทก์ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างในวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ต้องถือว่าจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ในวันที่โจทก์ได้ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างคือวันที่ 1 กรกฎาคม2541 และเป็นผลให้เลิกสัญญาจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือในวันที่ 30 สิงหาคม 2541 ดังนี้การบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยที่ประสงค์ให้เป็นผลเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ.มาตรา 582โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 61 วัน

โจทก์บรรยายฟ้องและรับตามคำแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคือเดือนกรกฎาคม 2541 และโจทก์ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนดังกล่าวไปแล้ว โจทก์จึงยังคงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเฉพาะเดือนสิงหาคม 2541 จำนวน 30 วัน เท่านั้นการที่ศาลแรงงานพิพากษาให้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างคนละ 61 วัน โดยนำสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนกรกฎาคม 2541 มารวมด้วย เป็นการพิพากษาให้เกินสิทธิที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับและเกินคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่เป็นธรรมแก่จำเลย ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52

โจทก์เป็นลูกจ้างโรงงานน้ำตาล ส.ซึ่งเป็นกิจการในการดำเนินการควบคุมดูแลของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาในการจ้างหลังวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หรือค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จที่ต้องจ่ายเพิ่มในกรณีค่าชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จจะมีจำนวนเท่าใดย่อมเป็นไปตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ข้อ 12 ส่วนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้กระทรวงการคลังพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เงินเดือน ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จต่อไป กับอนุมัติให้นำเงินที่ได้จากการขายโรงงานน้ำตาลไปชำระหนี้ธนาคารกรุงไทยจำกัด และให้นำเงินส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้ส่งคณะกรรมการชำระบัญชีฯ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยแก่พนักงานพร้อมกับดำเนินการในส่วนอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีต่อไปนั้น เป็นเพียงการอนุมัติให้กระทรวงการคลังสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กับให้นำเงินที่ได้จากการขายโรงงานน้ำตาลซึ่งเหลือจากการชำระหนี้ไปจ่ายเป็นค่าชดเชยและเงินบำเหน็จแก่พนักงานที่มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527ข้อ 12 เท่านั้น หาได้อนุมัติให้พนักงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จเพิ่มขึ้นหรือผิดแผกไปจากที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับดังกล่าว ข้อ 12 ไม่ ทั้งจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้โจทก์โดยคำนวณบำเหน็จและค่าชดเชยถูกต้องครบถ้วนตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพ.ศ. 2527 ข้อ 12 แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นอีกส่วนหนึ่ง

 

…………………..……………………………………………………………..

 

 

(มงคล คุปต์กาญจนากุล - พิมล สมานิตย์ - อร่าม หุตางกูร )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายสมพงษ์ เหมวิมล

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด