คำสั่งเลิกจ้าง กับ พฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริต


823 ผู้ชม


คำสั่งเลิกจ้าง กับ พฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริต




คดีแดงที่  4507/2544

นายชัยยันต์ เบญจกุล โจทก์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำเลย

 

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1), 11 วรรคสอง
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46

คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยระบุเหตุเลิกจ้างว่าโจทก์มีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริต สอบสวนรับบุคคลที่ ขาดคุณสมบัติขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างของจำเลย บันทึกรายการขอขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าที่เป็นเท็จ จัดทำคำขอกู้ให้ แก่บุคคลดังกล่าวด้วยวงเงินกู้สูง และมีพฤติการณ์มีส่วนรู้เห็นกับการที่มีบุคคลภายนอกเรียกหรือรับผลประโยชน์จากลูกค้าเป็นค่าวิ่งเต้นในการเข้าเป็นลูกค้าเพื่อกู้เงินจากจำเลยซึ่งจำเลยอาจปรับเข้ากับข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยวินัย การสอบสวนและการลงโทษสำหรับพนักงานและลูกจ้าง ข้อ 5 (4) ว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงด้วยการทุจริตต่อหน้าที่ได้ แต่กลับปรากฎตามรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนที่จำเลยตั้งขึ้นว่าโจทก์กระทำผิดวินัยตาม ข้อ 3 (4) (6) (7) (10) แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ สมควรเลิกจ้างโจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือน การถอดถอนสำหรับพนักงาน ข้อ 19 (2) ด้วยเหตุไม่อาจไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และต่อมาจำเลยก็มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสอบสวนโดยอ้างเหตุว่าการกระทำของโจทก์ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่และชื่อเสียง ของจำเลย ซึ่งตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 6 ระบุว่าไม่เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยข้อบังคับของจำเลย หมวด 4 การถอดถอนข้อ 19 (2) เพราะไม่อาจไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อันเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาจ้างเท่านั้น ต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ประสงค์ลงโทษทางวินัยด้วยการไล่ออกหรือปลดออกเนื่องจากโจทก์กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงอันจะทำให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ แต่จำเลยประสงค์เลิกสัญญาจ้างเพราะเหตุไม่อาจไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่งไม่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 46 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แม้ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ก็ตาม แต่ตามระเบียบดังกล่าวข้อ 45 ก็ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างในหลักเกณฑ์เดียวกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 เป็นเพียงการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้องเท่านั้น จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวเสียให้ถูกต้อง

ระเบียบฉบับที่ 33 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสประจำปีสำหรับพนักงานของจำเลย ข้อ 2 กำหนดว่าพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานมาครบในรอบปีใดจะได้รับเงินโบนัสในรอบปีนั้นตามกฎเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ถ้าพนักงาน ผู้ใดไม่เคยลา…จะได้รับเงินโบนัสเต็มจำนวน… ส่วนข้อ 3 ถึง 9 ของระเบียบดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่าย เงินโบนัสสำหรับพนักงานของจำเลยที่ทำงานไม่ครบรอบปีบัญชีจากสาเหตุกรณีต่าง ๆ เช่น ลาออก ได้รับทุนไปศึกษาต่อ ต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ถูกเลิกจ้างเป็นต้น สำหรับหลักเกณฑ์ตามข้อ 10 วรรคสอง ก็เป็นกรณีที่พนักงานที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยในระหว่างรอบบัญชีของปีนั้น ๆ หาได้หมายความถึงพนักงานที่ทำงานครบรอบปีจนมีสิทธิได้รับเงินโบนัสเต็มจำนวนดังที่ระบุไว้ในข้อ 2 (1) ไม่ โจทก์ทำงานครบรอบปีบัญชี 1 เมษายน 2539 ถึง 31 มีนาคม 2540 แล้ว จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 และโจทก์ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งอยู่ในระหว่างรอบปีบัญชี 1 เมษายน 2540 ถึง 31 มีนาคม 2541 โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินโบนัสเต็มจำนวนสำหรับรอบปีบัญชี 1 เมษายน 2539 ถึง 31 มีนาคม 2540 ตามระเบียบของจำเลยข้อ 2 (1)

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องและแก้คำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงาน ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานสินเชื่อ ๖ สาขาจันดี สังกัดสาขาระดับจังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและโจทก์ไม่ได้กระทำผิด ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดิม หากไม่อาจกระทำได้ให้บังคับจำเลยจ่าย เงินโบนัสของปีบัญชี ๑ เมษายน ๒๕๓๙ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๔๕,๑๒๐ บาท ค่าชดเชยจำนวน ๕๗,๖๐๐ บาท และ ค่าเสียหายจำนวน ๓,๘๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบวิธีปฏิบัติของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จึงถูกลงโทษเลิกจ้างและเป็นการ เลิกจ้างที่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสของปีบัญชี ๒๕๓๙ เพียงกึ่งหนึ่งจำนวน ๒๓,๕๐๖ บาท ซึ่งจำเลยโอนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๕๗,๖๐๐ บาท และเงินโบนัสจำนวน ๒๑,๖๑๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๗๙,๒๑๔ บาท นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางพิจารณาหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วฟัง ข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้บันทึกและสอบสวนรายการขอขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าประจำสาขาจันดีของจำเลย (แบบ ๑๑ - ๐๓๐) รวมลูกค้า ๙ ราย ซึ่งปรากฏจากสำเนาทะเบียนบ้านว่าลูกค้าทั้ง ๙ ราย เข้ามาอยู่ในบ้านของลูกค้า แต่ละรายไม่ถึง ๑ ปี และบางรายก็มิใช่เจ้าของบ้าน โจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อของจำเลยซึ่งมีหน้าที่สอบสวนรายการตามแบบ ๑๑ - ๐๓๐ ควรจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันดังกล่าวให้ได้ความว่าข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ก่อนที่จะสรุปความเห็นเสนอผู้จัดการสาขาพิจารณาว่าควรรับหรือไม่รับบุคคลขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้า แต่โจทก์กลับสรุปความเห็นว่าควรให้รับขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าโดยละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้องก่อนตามระเบียบขั้นตอนและคำเตือนที่จำเลยกำหนดให้ปฏิบัติ การที่โจทก์ละเลยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวน่าเชื่อว่าโจทก์กระทำโดยมีเจตนาที่จะบันทึกรายการขอขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าประจำสาขาเป็นเท็จ ถือว่าโจทก์รายงานเท็จหรือเสนอความเห็นที่ไม่สุจริตต่อผู้บังคับบัญชา และไม่ปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติของจำเลย ดังนั้นที่โจทก์อุทธรณ์ ยืนยันว่าลูกค้าทั้ง ๙ ราย มีถิ่นที่อยู่และประกอบอาชีพเกษตรกรรมของตนในท้องที่ดำเนินงานของสาขาจันดีเกินกว่า ๑ ปี ทุกราย เท่ากับให้ศาลฎีการับฟังว่าโจทก์มิได้ละเลยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของลูกค้าให้ถูกต้องตามระเบียบ เป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกา ไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย ระบุเหตุเลิกจ้างว่าโจทก์มีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริต สอบสวนรับบุคคลที่ขาด คุณสมบัติขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างของจำเลย บันทึกรายการขอขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าที่เป็นเท็จ จัดทำคำขอกู้ให้แก่บุคคลดังกล่าวด้วยวงเงินกู้สูง และมีพฤติการณ์มีส่วนรู้เห็นกับการที่บุคคลภายนอกเรียกหรือรับผลประโยชน์จากลูกค้าเป็น ค่าวิ่งเต้นในการเข้าเป็นลูกค้าเพื่อกู้เงินจากจำเลย ซึ่งจำเลยอาจจะปรับเข้ากับข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ ๙ ว่าด้วย วินัย การสอบสวน และการลงโทษสำหรับพนักงานและลูกจ้าง ข้อ ๕ (๔) ว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงด้วยการทุจริตต่อหน้าที่ได้ แต่กลับปรากฏตามรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนที่จำเลยตั้งขึ้นว่า โจทก์กระทำผิดวินัยตามข้อ ๓ (๔) (๖) (๗) (๑๐) แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ สมควรเลิกจ้างโจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ ๔ ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือน และการถอดถอนสำหรับพนักงาน ข้อ ๑๙ (๒) ด้วยเหตุไม่อาจไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และต่อมาจำเลยก็มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสอบสวน โดยอ้างเหตุว่าการกระทำของโจทก์ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่และ ชื่อเสียงของจำเลย ซึ่งตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ ๖ ระบุว่าไม่เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยข้อบังคับของจำเลย หมวด ๔ การถอดถอน ข้อ ๑๙ (๒) เพราะไม่อาจไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ อันเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาจ้างเท่านั้น ไม่ใช่เลิกจ้างด้วยโทษทางวินัยด้วยการไล่ออกหรือ ปลดออกตาม ข้อ ๔ (๑) (๒) ต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ประสงค์ลงโทษทางวินัยด้วยการไล่ออกหรือปลดออกเนื่องจากโจทก์กระทำผิดทางวินัยอย่าง ร้ายแรงอันจะทำให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ แต่จำเลยประสงค์เลิกสัญญาจ้างเพราะเหตุไม่อาจไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่งไม่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๔๖ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑ (๑) และมาตรา ๑๑ วรรคสอง แม้ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ ก็ตาม แต่ตามระเบียบดังกล่าวข้อ ๔๕ ก็ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างในหลักเกณฑ์เดียวกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๔๖ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ เป็นเพียงการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้องเท่านั้น จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่เห็นสมควรปรับบทการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวเสียให้ถูกต้อง

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องจ่ายเงินโบนัสของปีบัญชี ๑ เมษายน ๒๕๓๙ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๐ เพิ่มให้โจทก์อีก ๒๑,๖๑๔ บาท หรือไม่ เห็นว่า ระเบียบฉบับที่ ๓๓ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสประจำปีสำหรับพนักงานของจำเลย ข้อ ๒ กำหนดว่าพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานมาครบในรอบปีใดจะได้รับ เงินโบนัสในรอบปีนั้นตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) ถ้าพนักงานผู้ใดไม่เคยลา … จะได้รับเงินโบนัสเต็มจำนวน …

ส่วนข้อ ๓ ถึงข้อ ๙ ของระเบียบดังกล่าวจะเห็นได้ว่าล้วนแต่กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสสำหรับพนักงานของจำเลยที่ทำงานไม่ครบรอบปีบัญชีจากสาเหตุกรณีต่าง ๆ เช่น ลาออก ได้รับทุนไปศึกษาต่อ ต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ถูกเลิกจ้าง เป็นต้น สำหรับหลักเกณฑ์ตามข้อ ๑๐ วรรคสอง ก็เป็นกรณีที่พนักงานที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยในระหว่างรอบบัญชีของปีนั้น ๆ หาได้หมายความถึงพนักงานที่ทำงานครบรอบปีจนมีสิทธิได้รับเงินโบนัสเต็มจำนวนดังที่ระบุไว้ในข้อ ๒ (๑) ดังความหมายที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังได้ความว่าโจทก์ทำงานครบรอบปีบัญชี ๑ เมษายน ๒๕๓๙ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๐ แล้ว จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ และโจทก์ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ซึ่งอยู่ในระหว่างรอบปีบัญชี ๑ เมษายน ๒๕๔๐ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๑ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินโบนัสเต็มจำนวนสำหรับรอบปีบัญชี ๑ เมษายน ๒๕๓๙ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๐ ตามระเบียบของจำเลยข้อ ๒ (๑) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสจำนวน ๒๑,๖๑๔ บาท ชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๔๕ (๓) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลแรงงานกลาง

 

(วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - หัสดี ไกรทองสุก )

 

ศาลแรงงานกลาง(สงขลา) - นายธงชัย อยู่ถนอม

ศาลอุทธรณ์ -

อัพเดทล่าสุด