ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง


679 ผู้ชม


ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง




พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 14, 70

การที่สหภาพแรงงานฟาร์-อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ต่อโจทก์(นายจ้าง)หลายข้อ แต่ผู้แทนโจทก์ยินยอมตกลงตามข้อเรียกร้องเพียง 2 ข้อ ตามที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ไกล่เกลี่ยในครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้แทนสหภาพแรงงานฟาร์-อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ มิได้ยอมรับ ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีการเจรจาตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องอื่น ๆ ที่เหลือต่อไปอีก ฉะนั้น การเจรจาตกลงกันในวันที่ 28 มีนาคม 2544 จึงสิ้นสุด โดยที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาในวันที่ 29 มีนาคม 2544 ผู้แทนโจทก์ไม่ไปเจรจาตามนัด และไม่มีการเจรจาตกลงกันในวันดังกล่าว การที่ผู้แทนสหภาพแรงงาน ฟาร์ - อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ไปลงชื่อในบันทึกข้อตกลงตามที่ผู้แทนโจทก์ได้ตกลงไว้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 นั้น ไม่มีผลทำให้ข้อตกลงที่สิ้นผลไปแล้ว กลับมามีผลได้อีก จึงต้องถือว่าข้อพิพาทแรงงานตามข้อเรียกร้องดังกล่าวยังเป็นข้อที่ตกลงกันไม่ได้ การใช้สิทธิแจ้งปิดงานงดจ้างของโจทก์ จึงชอบด้วย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ประเวศ ที่ ๓/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงานพื้นที่ประเวศ ที่ ๓/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การใช้สิทธิปิดงานใน วันที่ ๓๐ และวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๔ ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้แทนโจทก์ได้ยินยอมตกลงตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฟาร์ - อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ จำนวน ๒ ข้อ ตามที่พนักงานประนอมข้อพิพาท แรงงานได้ไกล่เกลี่ยในครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๔ นั้น เป็นเพียงการสนองรับข้อเสนออันเป็นข้อเรียกร้องของ สหภาพแรงงานฟาร์ - อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ เพียงบางข้อเท่านั้น การยินยอมตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการเสนอ ข้อเรียกร้องใหม่แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้แทนสหภาพแรงงานฟาร์ - อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการเจรจาตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องอื่น ๆ ที่เหลือต่อไปอีก ฉะนั้นการเจรจาตกลงกันในวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๔ จึงสิ้นสุดโดยที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๔ ผู้แทนโจทก์ไม่ได้ไปเจรจาตามนัดจึงไม่มีการเจรจาตกลงกันในวันดังกล่าว การที่ผู้แทนสหภาพแรงงานฟาร์ - อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ได้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงตามที่ผู้แทนโจทก์ได้ยินยอมตกลงไว้ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๔ ในภายหลัง นั้น ก็ไม่มีผลทำให้ข้อตกลงของฝ่ายโจทก์ซึ่งสิ้นผลไปแล้วกลับมามีผลผูกพันฝ่ายโจทก์ได้อีก ฉะนั้นจึงต้องถือว่าข้อพิพาทแรงงานตามข้อเรียกร้องดังกล่าวยังเป็นที่ตกลงกันไม่ได้ การใช้สิทธิแจ้งปิดงานงดจ้าง ของโจทก์ จึงชอบด้วย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๔ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ตามคำสั่งของจำเลย คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว

พิพากษายืน.

 

(ปัญญา สุทธิบดี - อรพินท์ เศรษฐมานิต - สถิตย์ อรรถบลยุคล )

 

ศาลแรงงานกลาง - นางสาวฉันทนา เจริญศักดิ์

ศาลอุทธรณ์ -

อัพเดทล่าสุด